ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ....

Script Writer
วิจิตรา ประยูรวงษ์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2021-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) ภายในปี 2565  กล่าวคือ จะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2563, น. 48) ดังนั้น การที่จะทำให้ประชาชนวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รัฐจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้เกษียณอายุหรือระบบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งในปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญแบ่งออกเป็น ระบบสำหรับข้าราชการ ระบบสำหรับลูกจ้างเอกชน และระบบสำหรับประชาชน มีกองทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ

1) ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยกรมบัญชีกลาง

2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

3) กองทุนประกันสังคม (กรณีชราภาพ) โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

4) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยกระทรวงการคลัง

5) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ, สำนักส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สิงหาคม 2561, น. 3–6) จะเห็นได้ว่าระบบบำเหน็จบำนาญของไทยมีการบริหารจัดการแบบแยกส่วน (fragmented system) เนื่องจากแต่ละระบบอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐคนละหน่วยงาน โดยมึความแตกต่างกันทั้งในด้านเงื่อนไขการเกิดสิทธิ การสมทบจากรัฐ และระดับสิทธิประโยชน์ ส่งผลให้ระบบเหล่านี้ มีการพัฒนาที่ขาดทิศทาง ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนขาดความมั่นคงในระยะยาว อีกทั้งการที่หน่วยงานแต่ละแห่งมีระบบฐานข้อมูลเป็นของตนเอง ทำให้เกิดการลงทุนในระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ซ้ำซ้อนกัน อันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากรของประเทศ (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, กันยายน 2562, น. 1–3)

จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. คนบ.) ไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 โดยมีหลักการและเหตุผล คือ เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน ทำให้มีข้อจำกัดในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการส่งเสริมระบบหลักประกันเมื่อพ้นวัยทำงานในภาพรวม ส่งผลให้การดำเนินงานมีความซ้ำซ้อนเพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านหลักประกันรายได้เมื่อพ้นวัยทำงานเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมควรมีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดทำนโยบายของระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมให้สอดคล้องกัน ประสานนโยบายกองทุนการออมเพื่อการชราภาพทุกหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน พัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมผู้พ้นวัยทำงานทั้งหมดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นธรรม เกิดความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งจัดทำอัตราบำเหน็จบำนาญพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และเสนอแนะนโยบายแก่คณะรัฐมนตรีสำหรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 14 พฤษภาคม 2564)

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จำนวน 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการโดยมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุม  ผู้พ้นวัยทำงานทั้งหมดให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นธรรม และยั่งยืน รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการหรือกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญของภาครัฐและเอกชน และเพื่อให้นโยบายด้านบำเหน็จบำนาญเป็นไปในทางเดียวกัน หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และธนาคารแห่งประเทศไทยประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป (สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 30 มีนาคม 2564, น. 5–6)

ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการกำหนดนโยบายและทิศทางของระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ รวมถึงการกำกับดูแลการประสานงานเกี่ยวกับการออมเพื่อการชราภาพให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของประเทศ ทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้สูงอายุมีเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพยามชราภาพ ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยบรรเทาภาระงบประมาณการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุได้ในอนาคต
 

ภาพปก