นวัตกรรมในการแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

Script Writer
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

 “ปัญหาขยะทะเล” เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับโลกและถือเป็นวิกฤติข้ามพรมแดน เนื่องจากขยะทะเลสามารถลอยตามกระแสน้ำไปยังประเทศและทวีปต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มตระหนักและหามาตรการเพื่อลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน โดยผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ในพ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีปริมาณขยะทะเลมากเป็นลำดับที่ 10 ของโลก ซึ่งขยะทะเลส่วนใหญ่ที่พบเป็นขยะพลาสติกที่มีการจัดการไม่ถูกต้องประมาณ 1.03 ล้านตันต่อปี จำแนกประเภทได้เป็น กล่องโฟม พลาสติกหุ้มอาหาร ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหลอดดูดพลาสติก จากข้อมูลข้างต้นกล่าวได้ว่า ขยะทะเลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ อีกทั้งยังมีข้อมูลจากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับขยะมูลฝอยในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณขยะเกือบ 2 ล้านตัน หรือร้อยละ 7.19 ของปริมาณขยะทั้งหมดเกิดจากชุมชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ริมปากแม่น้ำและริมชายฝั่งทะเล

สาเหตุหลักของปัญหาขยะทะเลเกิดจากประชาชนขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคัดแยกและการทิ้งขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีชุมชนริมแม่น้ำและชุมชนริมชายฝั่งทะเลที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่น ส่งผลให้ขยะเหล่านี้กลายเป็นมลภาวะกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร สิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศในน้ำ รวมทั้งส่งผลเสียต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหา เช่น 1) ติดตั้งทุ่นกักขยะ (BOOM) ในแม่น้ำลำคลองหรือตำแหน่งที่มีน้ำแรงเพื่อเป็นการกำหนดบริเวณและกั้นไม่ให้ขยะลอยออกไประยะไกล ทุ่นกักขยะประเภทนี้มีความแข็งแรงทนทานสามารถนำไปใช้ได้ทั้งพื้นที่น้ำจืดและทะเล 2) นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ ทุ่นลักษณะนี้มีคุณสมบัติในการช่วยกักเก็บขยะไม่ให้หลุดลอยออกนอกทุ่นตามการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีวัสดุพอลิเมอร์กับการออกแบบเชิงวิศวกรรมเป็นนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำจากวัสดุ HDPE หรือ High Density Polyethylene ซึ่งเป็นพลาสติกเกรดพิเศษที่นำมาใช้ทดแทนวัสดุเดิมทำให้ทุ่นกักขยะลอยน้ำสามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น ทำให้จัดเก็บขยะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อแสงแดด อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และ 3) นวัตกรรมเรือ Interceptor หรือเรือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนเรือเพื่อดักจับขยะบนผิวน้ำ โดยจะมีการติดตั้งเครื่อง Interceptor ในแต่ละลำเรือเพื่อให้สามารถดักเก็บขยะมูลฝอยอัตโนมัติ เรือจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์นี้สามารถจัดเก็บขยะได้มากถึง 3 - 4 ตันต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในพื้นที่ โดยระยะเริ่มแรกใน พ.ศ. 2565 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะติดตั้งเรือ Interceptor บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 3 จุด ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้ถึงร้อยละ 60 ส่วนขยะที่เก็บรวบรวมได้จะถูกนำมากำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และหากมีปริมาณขยะมากพอก็สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่อไป

แนวทางการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เพื่อลดปัญหาขยะตกค้างในแม่น้ำลำคลองก่อนไหลลงสู่ทะเลจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดต่อสัตว์ทะเลหายาก ทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศชายฝั่ง แต่ทั้งนี้ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทาง คือ พื้นที่ชุมชนริมคลองและชุมชนริมฝั่งทะเล โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนริมคลองและชุมชนริมฝั่งทะเลทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ด้วยการกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนเป้าหมายในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ร่วมกับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการจัดหาถังขยะและตำแหน่งจุดทิ้งขยะในชุมชน ตลอดจนจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่ออบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยลดปริมาณขยะทะเลของประเทศไทยเพื่อพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

ภาพปก