“รถยนต์กระบะแคป” เป็นรถที่ประชาชนคนไทยใช้กันทั่วไป โดยวัตถุประสงค์ของพื้นที่บริเวณแคป คือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของและงานบรรทุกสิ่งของ ซึ่งไม่ได้มีการออกแบบเพื่อให้บุคคลนั่ง ส่งผลให้ไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยของผู้ที่นั่งพื้นที่บริเวณแคป อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมของคนไทย พบว่า มีการใช้พื้นที่บริเวณแคปเพื่อนั่งโดยสารจนเคยชิน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้มีการประกาศพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยมาตรา 7 ได้กำหนดให้ในขณะขับรถยนต์ ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์ และคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ เมื่อกฎหมายได้มีการกำหนดแนวทางการรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ดังข้างต้น ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่ากรณีของรถยนต์กระบะแคป ซึ่งพื้นที่บริเวณแคปไม่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ประชาชนทั่วไปใช้นั่งโดยสารจนเคยชิน กรณีเช่นนี้ประชาชนจะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในพื้นที่บริเวณแคปหรือไม่ การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเพิ่มเติมในพื้นที่บริเวณแคปจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ประชาชนจะสามารถนั่งในพื้นที่บริเวณแคปได้หรือไม่ และจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อนั่งในพื้นที่บริเวณแคปหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2562 นิยามรถแต่ละประเภทของกรมการขนส่งทางบก ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง หลักเกณฑ์การติดตั้งและคุณสมบัติของเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2555 ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดแบบเข็มขัดนิรภัยและประเภทของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัย พ.ศ. 2555 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 พบว่า รถยนต์กระบะแคปจัดอยู่ในรถยนต์ประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) มีวัตถุประสงค์ของพื้นที่บริเวณแคปไว้สำหรับตั้งวางสิ่งของและงานบรรทุกสิ่งของจำนวนน้อย โดยมิได้ใช้ประกอบการเพื่อการค้าหรือธุรกิจ และไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อให้บุคคลนั่ง โดยกำหนดให้กรณีที่จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม พ.ศ. 2537 ไม่บังคับให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย และกรณีจดทะเบียนตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งคนขับและที่นั่งตอนหน้าของรถที่อยู่ด้านริมสุด และในตำแหน่งระหว่างที่นั่งตอนเดียวกัน แต่ไม่ได้กำหนดให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในพื้นที่บริเวณแคป และหากดำเนินการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเพิ่มเติมด้วยตนเองในพื้นที่บริเวณแคปจะนับเป็นการดัดแปลงสภาพรถที่แตกต่างไปจากที่จดทะเบียนไว้ ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และบุคคลสามารถนั่งในพื้นที่บริเวณแคปได้โดยไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนั่งโดยสารในพื้นที่บริเวณแคปโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจะสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่การขับขี่รถบนท้องถนนจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การมีวินัยและปฏิบัติตนตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และหมั่นตรวจสอบสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย สามารถลดอุบัติเหตุอันจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่และคนโดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th