ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ชรบ.” ซึ่งเกิดขึ้นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้มีหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และมีฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกรมการปกครองได้จัดฝึกอบรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) และราษฎรที่สมัครใจในหมู่บ้าน จัดตั้งเป็นกองกำลังประชาชนในรูปแบบของราษฎรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดและเต็มพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) เฉลี่ยจำนวน 30 คนต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมกันปกป้อง คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกัน ต่อต้านการก่อความไม่สงบและรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภารกิจของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยในปัจจุบันอัตรากำลัง ชรบ. ทั่วประเทศ มีจำนวน 463,471 คน ครอบคลุม 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) สำหรับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. มีการจัดตั้งขึ้น ดังนี้
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็น ชรบ. ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรม มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเป็นผู้ประพฤติดี เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบอันเป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือพัวพันกับยาเสพติดให้โทษ ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
ในส่วนของสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของ ชรบ. นั้น เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของประชาชนผู้เสียสละอาสาเข้ามาช่วยงานของทางราชการ จึงไม่มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หรือค่าตอบแทน เว้นแต่นายอำเภอออกคำสั่งใช้ให้ ชรบ. ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนยุทธการของอำเภอ ซึ่งเมื่อเกิดการปะทะต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อาจได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์ เงินดำรงชีพ ค่าจัดการศพ ค่ารักษาพยาบาล เงินยังชีพรายเดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 แต่ถ้าอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 วันที่ 6 กันยายน 2548 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 นอกจากนี้ ชรบ. ยังมีสิทธิสวมใส่เครื่องแต่งกายและติดเครื่องหมายชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และใช้อาวุธของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
ด้วยบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของ ชรบ. ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความมั่นคง ให้ประชาชนมีความรักและความสามัคคี มีการรวมกลุ่ม/จัดตั้งองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ อย่างเช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเกิดจากแนวคิดพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อทำให้ตำบล หมู่บ้าน มีระบบป้องกันที่ดี มีความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th