จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2537 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 4.01 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันปี พ.ศ. 2567 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.03 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.0 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ ในจำนวนผู้สูงอายุ 14.03 ล้านคน พบว่าร้อยละ 97 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ดี (Active Aging) ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านมีร้อยละ 2.5 และกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงมีเพียงร้อยละ 0.5 คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2576 ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี และจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤติโครงสร้างประชากร โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงและวัยแรงงานน้อยลง หากวัยแรงงานต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุโดยที่ผู้สูงอายุไม่เตรียมพร้อมหรือไม่มีการสนับสนุนจากรัฐและชุมชน อาจนำไปสู่การเป็นสังคมที่เปราะบางได้
ประกอบกับการวิจัยล่าสุดจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยพบว่าผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและอยู่คนเดียวโดยไม่มีผู้ดูแลมีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสเพียงอย่างเดียวมีสัดส่วนร้อยละ 21.1 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับการอยู่คนเดียว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตหากไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการ แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญกับความเหงาและความเครียดจากการอยู่คนเดียว การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวถือเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของพวกเขา การพัฒนาระบบสนับสนุนและบริการสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและไม่ถูกทอดทิ้งในสังคม
รัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ ซึ่งมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและไม่มีผู้ดูแล โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตในถิ่นที่อยู่เดิมอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระทางสังคมในการดูแล และสร้างเครือข่ายการดูแลในรูปแบบครอบครัวโครงการนี้ดำเนินการโดยกรมกิจการผู้สูงอายุร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยกำหนดอัตราค่าช่วยเหลือที่ 2,000 บาทต่อเดือน ต่อผู้สูงอายุหนึ่งคน และอาจเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงหรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ดูแลในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
กรมกิจการผู้สูงอายุได้ประกาศระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองผู้สูงอายุแบบครอบครัวอุปถัมภ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในสภาพแวดล้อมที่เป็นครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่ต้องเข้าศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.)
ครอบครัวอุปถัมภ์ตามระเบียบนี้ คือ บุคคลหรือครอบครัวที่ได้รับอนุญาตให้ดูแลผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนและไม่มีผู้ดูแล โดยต้องมีความยินยอมจากผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลครอบครัวอุปถัมภ์จำนวน 1,107 ครอบครัว และคาดว่าในปีงบประมาณ 2568 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่ประสงค์จะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ต้องยื่นคำขอตามแบบที่กรมกิจการผู้สูงอายุกำหนด โดยสามารถยื่นได้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ตามที่กำหนดในพื้นที่ เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
โครงการนี้ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลในการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงการดูแลและบริการที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th