การให้โดยเสน่หา

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“การให้โดยเสน่หา” หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้” โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับ” และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น การให้โดยเสน่หามีแนวความคิดมาจากหลักการ 4 หลัก คือ

  1. 1) หลักอิสระทางแพ่งและเสรีภาพในการทำสัญญา ซึ่งเป็นหลักการที่ให้อำนาจแก่บุคคลในการตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตทางกฎหมายด้วยตนเองทั้งในเรื่องส่วนตัวและทรัพย์สิน สามารถจัดการทรัพย์สินได้ตามความต้องการของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลใด
  2. 2) หลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดว่าการจัดการทรัพย์สินจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมที่ประชาชนถือปฏิบัติ 
  3. 3) หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดว่าคู่สัญญาที่เข้าทำสัญญาด้วยความสมัครใจจะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นอย่างเคร่งครัด และ
  4. 4) หลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหลักการที่ให้อำนาจแก่บุคคลที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการครอบครอง การใช้สอย และการจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลอื่น  

หลักกฎหมายเกี่ยวกับการให้โดยเสน่หาของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากหลักกฎหมายของฝรั่งเศส แต่ได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสังคมไทย และได้นำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521-มาตรา 536 ซึ่งการให้โดยเสน่หาจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้ต้องมีองค์ประกอบ คือ 

  1. 1) ผู้ให้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้และต้องมีความสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายด้วย คือ ผู้ให้จะต้องไม่เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ
  2. 2) ผู้ให้ต้องแสดงเจตนาให้ทรัพย์สินและผู้รับต้องแสดงเจตนารับทรัพย์สินที่ให้ โดยผู้รับไม่มีหน้าที่ต้องทำการสิ่งใดเป็นการตอบแทนการให้นั้น และ
  3. 3) ผู้ให้ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่ให้ให้แก่ผู้รับตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ในกรณีของการให้สังหาริมทรัพย์ เช่น เงิน ทองคำ ทำได้โดยการส่งมอบตัวทรัพย์ให้แก่ผู้รับ แต่ในกรณีของการให้อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน และสังหาริมทรัพย์พิเศษ คือ เรือที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย  

การให้โดยเสน่หาเมื่อมีผลสมบูรณ์แล้วเกิดผลทางกฎหมาย 2 ประการ คือ

1) ทรัพย์สินที่ให้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับ ผู้รับมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่รับนั้นในฐานะเจ้าของทรัพย์ได้ทุกประการ และ 2) ผู้ให้ไม่สามารถถอนคืนการให้โดยเสน่หาได้ เว้นแต่ผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ ซึ่งถือเป็นการประพฤติเนรคุณต่อผู้ให้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แม้ได้มีการประพฤติเนรคุณเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้ให้จะเพิกถอนการให้โดยเสน่หาไม่ได้หากเข้าเหตุยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ

  1. 1) ผู้ให้ได้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วโดยชัดแจ้ง
  2. 2) เมื่อเลยเวลา 6 เดือนนับแต่ผู้ให้ทราบว่าผู้รับประพฤติเนรคุณ
  3. 3) เมื่อพ้นเวลา 10 ปีนับแต่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้รับประพฤติเนรคุณ
  4. 4) การให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยเเท้
  5. 5) การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน 
  6. 6) การให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา และ
  7. 7) การให้ในการสมรส

การให้โดยเสน่หาในบางกรณีจะต้องเสียภาษีที่เรียกว่า “ภาษีการรับให้” (Gift Tax) ซึ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับจากการรับให้โดยเสน่หาก่อนผู้ให้เสียชีวิตตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท แต่กรณีของการให้สังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ที่ได้รับเงินจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท และผู้ที่ได้รับเงินจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท

การให้โดยเสน่หาเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกรณีของการให้สังหาริมทรัพย์เนื่องจากเพียงแค่ผู้ให้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ด้วยความสมัครใจให้แก่ผู้รับ ซึ่งยอมรับเอาสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีสิ่งใดตอบแทน การให้โดยเสน่หาก็มีผลสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม การให้โดยเสน่หาเป็นสัญญาที่มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การให้อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษ การเพิกถอนการให้โดยเสน่หา และการเสียภาษีการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ให้ความรู้ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้การให้โดยเสน่หามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และตรงตามความต้องการของคู่สัญญาอย่างแท้จริง

ภาพปก