การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

Script Writer
แดนชัย ไชวิเศษ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-12
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 โดยมีการเสนอจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ เป็นผู้เสนอ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับคณะ เป็นผู้เสนอ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ และถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระที่สอง และได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้วจึงได้เสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดในประเด็นที่เกี่ยวกับจำนวนคะแนนเสียงของการออกเสียงประชามติว่า การออกเสียงประชามติที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องจัดทำประชามติ ต่อมาวุฒิสภาได้มีการประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง และได้พิจารณาในวาระที่สอง แต่ในวาระที่สามที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับจำนวนคะแนนเสียงของการออกเสียงประชามติว่า การออกเสียงประชามติที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือการออกเสียงประชามติกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น จึงส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จึงได้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ถือว่าเป็นกรณีอื่น จึงต้องให้แต่ละสภาตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันได้มีมติเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภาที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างของสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นที่เกี่ยวกับจำนวนคะแนนเสียงของการออกเสียงประชามติว่า การออกเสียงประชามติที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือการออกเสียงประชามติกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น ต่อมาคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้พิจารณาเสร็จแล้ว จึงได้รายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง โดยได้รายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยในคราวการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการร่วมกันด้วยคะแนนเสียง 153 เสียง ไม่เห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการร่วมกันด้วยคะแนนเสียง 24 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนนไม่มี และได้รายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการร่วมกันด้วยคะแนนเสียง 61 เสียง ไม่เห็นชอบด้วยกับคณะกรรมาธิการร่วมกันด้วยคะแนนเสียง 327 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้ว จึงให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 137 (3)

ดังนั้น เมื่อมีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้ก่อน สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบด้วย กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ต้องยับยั้งไว้ขึ้นพิจารณาใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2568 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 138 (2) ประกอบมาตรา 137 (3) ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ขึ้นพิจารณาใหม่ และมีมติยืนยันร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาตามที่ได้เสนอต่อสภาทั้งสอง ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและให้ดำเนินการต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 81

ภาพปก