พันธุ์ข้าวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิต คุณภาพของเมล็ดข้าวตามความต้องการของตลาด ความต้านทานโรคและแมลง ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และการมีลักษณะรูปต้นที่ดีเหมาะสมกับการปลูกในนิเวศต่าง ๆ เช่น ข้าวนาชลประทาน ข้าวนาน้ำฝน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำ และข้าวน้ำลึก อย่างไรก็ตาม พันธุ์ข้าวอาจมีลักษณะด้อยของพันธุ์บางประการ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
โดยการปรับปรุงพันธุ์พืชต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการรวบรวม นำเข้าและการศึกษาเบื้องต้นของลักษณะเชื้อพันธุกรรม ขั้นตอนการสร้างความแปรปรวนทางพันธุกรรม ขั้นตอนการคัดเลือก และขั้นตอนการประเมินผล ซึ่งก่อนที่จะเผยแพร่แนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูก กรมการข้าวได้มีการดำเนินการรับรองพันธุ์ข้าว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการและความน่าเชื่อถือของข้อมูลสนับสนุนสายพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ที่นำมาจากแหล่งอื่น โดยดำเนินการตรวจสอบและพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดข้อมูลทางวิชาการจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลพันธุ์ข้าว และการพิจารณาเห็นชอบรับรองพันธุ์จากคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ตลอดจนผ่านการพิจารณาเห็นชอบรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวจึงออกประกาศรับรองพันธุ์ข้าวตามระเบียบกรมการข้าวว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับรองพันธุ์ข้าว พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้การรับรองพันธุ์ข้าว 2 ประเภท ได้แก่
ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวที่เสนอให้กรมการข้าวพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองหรือพันธุ์แนะนำ ต้องไม่เป็นพันธุ์ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms) หรือมีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กรมการข้าวกำหนด โดยพันธุ์ที่เสนอขอการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
กรมการข้าวได้ดำเนินการรับพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่องและมีพันธุ์ข้าวหลากหลายประเภท เช่น พันธุ์ข้าวนาสวนไม่ไวต่อช่วงแสง พันธุ์ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ พันธุ์ข้าวน้ำลึก พันธุ์ข้าวไร่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องตามขั้นตอนการรับรองพันธุ์ โดยที่ผ่านมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมการข้าวได้ดำเนินการทดสอบพันธุ์ ประเมินลักษณะประจำพันธุ์ ตรวจสอบข้อมูลพันธุ์ และให้การรับรองพันธุ์จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ กข93 (พุ่มพวงเมืองสองแคว) กข95 (ดกเจ้าพระยา) กข97 (หอมรังสิต) และกข 101 (ทุ่งหลวงรังสิต) และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวได้มีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่จำนวน 10 พันธุ์เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 72 พรรษา ประกอบด้วย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี ได้แก่ กข99 (หอมคลองหลวง 72) กข26 (เชียงราย 72) กข103 (หอมชัยนาท 72) กข111 (เจ้าพระยา 72) กข107 (พิษณุโลก 72) กข109 (หอมพัทลุง 72) กข24 (สกลนคร 72) กขจ1 (วังทอง 72) กขส1 (สะเมิง 72) และ หอมหัวบอน 35 (กระบี่ 72)
การรับรองพันธุ์ข้าวจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ผลิต และผู้ประกอบการ โดยการรับรองพันธุ์มีข้อมูลแสดงถึงแหล่งที่มาและประวัติพันธุ์ที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะเด่นของพันธุ์ ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด และพื้นที่แนะนำสำหรับการปลูก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถเลือกใช้เป็นพันธุ์ปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ หรือความต้องการของตลาด อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศ
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th