นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมมาแล้วจำนวน 26 ฉบับ โดยเป็นการนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ พระราชบัญญัติ จำนวน 20 ฉบับ ซึ่งแบ่งเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่มีลักษณะทางการเมืองจำนวน 19 ฉบับ พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรม จำนวน 1 ฉบับ และพระราชกำหนด จำนวน 4 ฉบับ เช่น การนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การปฏิวัติ การรัฐประหาร การกบฏ ผู้ที่พยายามยึดอำนาจ หรือจากเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ซึ่งหลักการของการนิรโทษกรรมเพื่อให้ลืมหรือยกโทษในความผิดที่ได้กระทำไปแล้วนั้น โดยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรืออำนาจของฝ่ายบริหารเป็นผู้ที่ตรากฎหมายเพื่อยกเว้นความผิด ความรับผิด และโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย อาจรวมถึงโทษทางปกครองด้วย ให้แก่ผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ได้กระทำการละเมิด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายของบ้านเมือง โดยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีการกระทำความผิดมาแล้ว และให้มีผลย้อนหลังถึงการกระทำความผิดเพื่อให้ลืมการกระทำนั้น จึงทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผลตามกฎหมายสำหรับความผิดที่ได้กระทำลง ซึ่งแตกต่างกับพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่ให้มีผลบังคับใช้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับหลักการในการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประกอบด้วย
เมื่อพิจารณาจากมูลเหตุจูงใจว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ ถ้าเกี่ยวเนื่องกันก็จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่การพิจารณาจากมูลเหตุจูงใจเช่นนี้ทำให้ขอบเขตของกฎหมายไม่ชัดเจนเพราะยากที่จะพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำ จึงควรระบุฐานความผิดหรือลักษณะความผิดที่จะมีการนิรโทษกรรมไว้ให้ชัดเจน
เมื่อพิจารณาหลักการในการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกี่ยวกับการเมืองที่จะมีลักษณะเป็นความผิดทางการเมืองต่อเมื่อ
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ลักษณะความผิดทางการเมืองต้องเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ที่ได้มีการกระทำความผิดต่อองค์กรในทางการเมืองหรือรัฐบาลที่มีอำนาจของรัฐนั้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของประชาชน เช่น ความผิดฐานก่อการกบฏ การยุยงส่งเสริมให้ก่อการกบฏ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความผิดทางการเมืองดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง อำนาจในการบริหารประเทศ และความปลอดภัยของรัฐ ความผิดที่มุ่งประสงค์ที่จะทำการล้มล้างอำนาจรัฐ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ รวมถึงความผิดที่เกิดจากการตระเตรียมการในการกระทำการดังกล่าวที่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษไว้ อีกทั้งความผิดที่มุ่งประสงค์ทางการเมืองอื่น ๆ และความผิดที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดทางการเมืองด้วย
สำหรับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ที่มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ว่า ถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าวแล้ว ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกบฏ การก่อการจลาจล หรือการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว หากเป็นความผิดตามกฎหมายใด ๆ ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกี่ยวกับการเมืองเป็นอำนาจและอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังมีการบังคับใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกี่ยวกับการเมืองนั้นด้วย และควรใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเกี่ยวกับการเมืองเท่าที่มี
เหตุจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th