ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะท้าย จะต้องเผชิญกับความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจ ส่งผลให้อาการทางกายทรุดลงและไม่สนองตอบต่อการรักษาหรือเยียวยาทางกาย ทำให้ผู้ป่วยอาจจากไปโดยไม่สงบได้ การจากไปอย่างสงบโดยไม่ทุรนทุรายหรือทุกข์ทรมานในทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง ผู้ที่คอยดูแลและอยู่รอบข้างผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะท้าย ไม่ว่าเป็นลูกหลาน ญาติมิตร แพทย์ พยาบาล ล้วนมีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยระยะท้ายเผชิญกับความตายอย่างสงบ และมีหลายสิ่งที่ผู้อยู่รอบข้างสามารถทำได้เพื่อให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยเหล่านี้ อาทิ การให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจ การช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความตายที่จะมาถึง การช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิต
“ชีวาภิบาล” เป็นการสมาสคำสองคำ คือ “ชีวา” หรือชีวิต กับ “อภิบาล” คือ การบำรุง ดูแลอย่างรอบด้าน เมื่อรวมกันจึงเป็นคำว่า “ชีวาภิบาล” ซึ่งหมายถึง การบำรุงดูแลชีวิต ดังนั้น เมื่อนำคำว่า สถานหรือศูนย์ มาใส่ข้างหน้าคำว่า “ชีวาภิบาล” เป็นคำว่า “สถานชีวาภิบาล” หรือ “ศูนย์ชีวาภิบาล” หมายถึง หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตของผู้ป่วยตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยเน้นการทำงานแบบองค์รวมเพื่อให้ได้รับการตอบสนองครอบคลุม ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตปัญญา อย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่บ้าน ชุมชน โดยไม่ถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง ลูกหลานสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติอันเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยนับจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเป็นบริการของรัฐและไม่มีค่าใช้จ่าย
การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องการดูแลแบบพึ่งพิงและครอบครัว ซี่งประกอบไปด้วยผู้สูงอายุระยะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ครอบคลุมทั้ง 4 มิติคือ กาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ โดยเชื่อมโยงการดูแลตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงชุมชนและหรือบ้าน แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล และสถานชีวาภิบาลในชุมชน เป็นการบูรณาการระบบการดูแลแบบประคับประคองชีวิตระยะท้าย (Palliative Care) ระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Care) ระบบการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) ลงสู่กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งจัดระบบบริการดูแลที่บ้าน (Home care และ Home ward) และชุมชน โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการ มีการแบ่งรูปแบบการให้บริการเป็น 2 ประเภท ได้แก่
โดยสถานชีวาภิบาล มีศักยภาพการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะประคับประคองระยะท้าย และหรือมีระบบบริหารจัดการผู้ดูแล (care giver) สำหรับผู้ที่ต้องการการดูแลที่บ้านได้ (Home care) ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว
สำหรับการจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชนนั้น เป็นการประสานงานระหว่างทีมสาธารณสุข กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด องค์กรศาสนา หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชนโดยอาจเป็นการยกระดับสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีอยู่เดิมในชุมชน โดยเพิ่มศักยภาพให้สามารถดูแลครอบคลุม ทั้งผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยระยะท้าย หรือการยกระดับสถานชีวาภิบาลในวัด การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเป็นไปตามมาตรฐานสถานประกอบการนั้น มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย หรือองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล
โดยในปี พ.ศ. 2567 จะมีการขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัดมี "สถานชีวาภิบาล" อย่างน้อย 1 แห่ง รวมถึงมีการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แก่ผู้ป่วยระยะท้ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อหนุนเสริมนโยบายการจัดตั้ง "สถานชีวาภิบาล" เป็นการสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพ โดยการร่วมจัดบริการการดูแล แบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับระบบสุขภาพในระดับสากล โดยมีบุคลากรด้านสุขภาพเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดคุณภาพในการให้บริการอย่างเป็นระบบ มีการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th