จากการที่ประเทศไทยได้แก้ไขสถานการณ์การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อปรับปรุงกฎหมายการประมงของประเทศไทยให้มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย มีการบริหารจัดการประมงให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน รวมถึงมีบทกำหนดโทษที่ครอบคลุม ได้สัดส่วน และเหมาะสมกับทุกการกระทำความผิด เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และปราบปรามการกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรสัตว์น้ำและเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
ด้วยบทลงโทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีทั้งโทษทางอาญาและโทษทางปกครอง โดยเฉพาะการกระทำความผิดซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการประมงอย่างร้ายแรง มีโทษให้ริบเครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เรือประมง หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เช่น ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง ทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมง จัดทำบันทึกหรือรายงานการทำการประมงโดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จ ทำลายเอกสารหรือหลักฐานในการกระทำความผิด ทำการประมงเกินปริมาณหรือเงื่อนไขที่กำหนด ทำการประมงในบริเวณหรือในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมง ดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ทำการประมงโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่รัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศกำหนดไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเจ้าของเรือประมงอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี จะไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เนื่องจากถูกยึดเครื่องมือทำการประมงหรือเรือประมงถูกกักไว้ ส่งผลให้สูญเสียรายได้ในระหว่างการดำเนินคดี เกิดเป็นข้อจำกัดในการประกอบอาชีพประมง ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงจึงได้ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมง พ.ศ. 2566 เป็นครั้งแรก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา
วิธีการในการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมง ให้เจ้าของเรือประมงซึ่งหมายความรวมถึง ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงนอกน่านน้ำไทย หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือประมง ยื่นคำขอวางประกัน ณ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ที่ถูกยึดเครื่องมือทำการประมงหรือถูกกักเรือประมง ถ้าเป็นกรณีเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอวางประกัน
ต่อเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง หลักประกันที่สามารถใช้วางประกันได้ต้องเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
เมื่อเจ้าของเรือประมงยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง “ประมงจังหวัด” จะเป็นผู้พิจารณาคำขอกรณีเรือประมงที่ถูกกักเป็นเรือไทย หรือกรณีเป็นเรือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทยหรือเรือที่มิใช่เรือไทยซึ่งมีขนาดตั้งแต่สามสิบตันกรอสขึ้นไป “คณะกรรมการพิจารณาการวางประกัน” จะเป็นผู้พิจารณาคำขอ โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุญาตให้วางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมงแล้ว จะมีการให้ทำสัญญาประกันและกำหนดมูลค่าเรือหรือเครื่องมือทำการประมงตามอัตราราคาวางประกันที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้ายประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมง พ.ศ. 2566 ในกรณีที่เจ้าของเรือไม่มาทำสัญญาประกันและนำหลักประกันมาวางตามวัน เวลา และสถานที่
ที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะวางประกันและให้คำขอเป็นอันยกเลิก
ทั้งนี้ การประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการวางประกันแทนการยึดเครื่องมือทำการประมงหรือกักเรือประมงในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถออกไปประกอบอาชีพประมงได้อย่างสุจริต โดยไม่ต้องสูญเสียรายได้ในระหว่างการพิจารณาคดีอันเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวประมง และเป็นอีกหนึ่งการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการที่จะมุ่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงของไทยให้กลับมาสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th