การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การที่บุคคลได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นที่ตนได้เข้าครอบครองไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นระยะเวลาติดต่อกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับประเภทของทรัพย์สินนั้น การครอบครองปรปักษ์ถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิด ที่ต้องการให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินให้คุ้มค่าไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ในการโอนกรรมสิทธิ์ให้เกิดความสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
1) การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินที่ไม่ได้มาจากการกระทำความผิด และ
2) การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
บุคคลที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์จะต้องเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์บุคคลที่ครอบครองปรปักษ์จะได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ทันทีเมื่อครอบครองครบตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษบุคคลที่ครอบครองปรปักษ์จะได้กรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ตนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ครอบครองปรปักษ์ แล้วนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน จึงจะเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การครอบครองปรปักษ์เป็นการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยผลของกฎหมาย ซึ่งไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อตัวเจ้าของทรัพย์สินเดิมเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบถึงผู้ครอบครองปรปักษ์และบุคคลภายนอก อีกทั้งยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยต้องคำนึงถึงสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมโดยรวมประกอบด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th