การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“การทํางานบริการสังคมแทนค่าปรับ” คือ การทำงานหรือกิจกรรมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ทำให้แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศล โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง เพื่อชดเชยความเสียหายและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดไม่ให้กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก โดยงานหรือกิจกรรมดังกล่าวต้องไม่แสวงหาผลกำไรให้แก่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 

การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเป็นมาตรการที่นำมาใช้แทนการลงโทษปรับทางอาญา เนื่องจากระบบการลงโทษปรับของประเทศไทย แม้จะมีวัตถุประสงค์มุ่งบังคับเอากับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าโทษปรับตามกฎหมายถูกกำหนดไว้ในอัตราตายตัว โดยศาลจะกำหนดค่าปรับให้สัมพันธ์กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด แต่ไม่ได้นำฐานะทางการเงินของผู้ต้องโทษปรับมาพิจารณาประกอบด้วย ทำให้ผู้ต้องโทษปรับที่มีฐานะยากจนและไม่มีเงินชำระค่าปรับต้องถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องโทษปรับและทำให้ผู้ต้องโทษปรับถูกลงโทษหนักกว่าโทษปรับตามคำพิพากษา  

การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ 

  1. 1. กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วให้ลงโทษปรับ และผู้ต้องโทษปรับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดี เพื่อขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ 
  2. 2. เมื่อความปรากฏต่อศาลขณะพิพากษาคดีว่า ผู้ต้องโทษปรับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคมได้ และผู้ต้องโทษปรับยินยอมที่จะทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ 

ทั้งสองกรณีดังกล่าว เมื่อศาลได้พิจารณาถึงฐานะการเงิน ประวัติ และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับแล้วหากเห็นเป็นการสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับได้ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการสังคม การกุศลสาธารณะหรือสาธารณประโยชน์ที่ยินยอมรับดูแล      

การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ เมื่อทำงานครบ 2 ชั่วโมง จะถือเป็นการทำงานบริการสังคมเท่ากับ 1 วัน และการทำงานบริการสังคม 1 วัน จะเท่ากับจำนวนเงินค่าปรับ 500 บาท เช่น ผู้ต้องโทษปรับ 5,000 บาท จะต้องทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเป็นเวลา 10 วัน ตามประเภทของงานบริการสังคมที่กำหนดไว้ในคำสั่งศาล ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่  

  1. 1. งานช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวกหรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้าหรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล 
  2. 2. งานวิชาการหรือสถานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ การค้นคว้าวิจัย หรือการแปลเอกสาร และงานจัดหมวดหมู่ในห้องสมุด 
  3. 3. งานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น งานช่างเครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ หรือวิชาชีพอย่างอื่น
  4. 4. งานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์อื่น เช่น งานทำความสะอาดหรือพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่า หรือดูแลสวนป่าหรือสวนสาธารณะ และงานจราจร   

ในระหว่างการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ หากผู้ต้องโทษปรับมีความพร้อมในการชำระค่าปรับสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ และชำระค่าปรับที่เหลือหลังจากหักจำนวนวันที่ทำงานบริการสังคมมาแล้วออกจากค่าปรับทั้งหมดได้ หรือหากผู้ต้องโทษปรับไม่ประสงค์จะทำงานบริการสังคมต่อไป อาจขอเปลี่ยนเป็นรับโทษปรับหรือกักขังแทนค่าปรับ โดยหักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับทั้งหมดก็ได้เช่นเดียวกัน หรือในกรณีที่ความปรากฏต่อศาลหรือตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ผู้ต้องโทษปรับมีเงินพอที่จะชำระค่าปรับหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับและปรับผู้ต้องโทษปรับนั้น โดยหักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากจำนวนเงินค่าปรับทั้งหมดก็ได้  

การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับนอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับได้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของตนด้วยการทำประโยชน์ให้แก่สังคมแล้ว ยังเป็นการฝึกวินัย ความรับผิดชอบ พัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ต้องโทษปรับ และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องโทษปรับ อีกทั้งยังช่วยลดภาระของรัฐในการดูแลผู้ต้องโทษปรับที่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับลงได้อีกด้วย

ภาพปก