ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนไทย

Script Writer
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

บุหรี่ไฟฟ้าหรือเรียกว่า e-cigarette มีการพัฒนาขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 โดยนายฮัน ลิก เป็นนักเภสัชกรชาวจีน ในเวลาต่อมาความนิยมในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ขยายไปหลายประเทศทั่วโลก จากรายงานของ Statista ได้ระบุว่า ใน พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะในสหพันธรัฐรัสเซีย รายได้จากการขายบุหรี่ไฟฟ้ามีมูลค่าถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในสหรัฐอเมริการายได้จากการขายบุหรี่ไฟฟ้ามีมูลค่าถึง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะคุณสมบัติของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกลิ่นหรือควัน สามารถสูบได้ทุกหนทุกแห่ง ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าสูบบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งได้มีคำกล่าวอ้างสรรพคุณที่เกินจริงว่าสูบแล้วไม่เป็นอันตรายจากโรคมะเร็งอีกด้วย ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป

การทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าถูกออกแบบให้เหมือนกับการสูบบุหรี่ทั่วไป โดยประกอบด้วยส่วนที่ติดกับริมฝีปาก (mouth-piece) หลังจากที่ผู้สูบหายใจผ่านทางส่วนที่ติดกับริมฝีปากจะมีหลอดบรรจุ (cartridge) อากาศที่ไหลผ่านจะกระตุ้นการทำงานของส่วนที่ทำให้เกิดความร้อน (atomizer) ในส่วนนี้จะทำให้ของเหลวที่มีสารนิโคตินระเหยเป็นไอ และผู้สูบหายใจเข้า นำไอระเหยที่มีนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ในส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีหลอดไฟเล็ก ๆ ที่มีแสงไฟสว่างเกิดขึ้นเมื่อผู้สูบสูดอากาศผ่านบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย ในหลอดบรรจุนั้นยังมีส่วนผสมอื่น ๆ นอกเหนือจากสารนิโคติน โดยมีความเข้มข้นตั้งแต่ 0-24 มิลลิกรัม เมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไปจะมีความเข้มข้นของสารนิโคตินเพียง 1-2 มิลลิกรัม ซึ่งจะเห็นว่าอันตรายของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ซึ่งจากรายงานของ Stanford Medicine ได้ระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณ 59 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ทั่วไปจำนวน 20 มวน นอกจากนี้ได้มีการเติมกลิ่นและรสชาติต่าง ๆ เช่น เมนทอล มอคค่า ช็อกโกแลต และสารแต่งกลิ่นอีกมากมายเพื่อจูงใจให้มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น

ในปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 เรื่อง การควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของนักเรียนและนักศึกษา โดยทางรัฐบาลไทยได้มีมาตรการสองส่วน คือ 

  1. 1) มาตรการด้านการปราบปราม โดยให้กระทรงการคลังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการปรามปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาดและต่อเนื่อง โดยมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และ 
  2. 2) มาตรการด้านการป้องกัน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการป้องกันการเข้าถึงและการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น การเผยแพร่ความรู้และรณรงค์เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างความตระหนักรู้ถึงข้อกฎหมายและบทลงโทษต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบ รวมทั้งการตรวจตราที่เข้มงวดเกี่ยวกับการมี การใช้ และการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาทุกระดับ 

ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้านั้น ทางรัฐบาลไทยได้กำหนดคำขวัญ ไว้ว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” (E-cigarette are toxic, addictive, dangerous) นอกจากนี้ จากรายงานสถิติปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนทั้งของสหรัฐอเมริกาและของประเทศไทยผู้สูบที่เป็นเยาวชนมีอายุที่ใกล้เคียงกัน

ในสหรัฐอเมริกา จากรายงาน National Center for Health Statistics ใน พ.ศ. 2564 ระบุว่าเยาวชนสหรัฐอเมริกาอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด โดยแบ่งเป็นเยาวชน
ชายถึง 11.6% ส่วนเยาวชนหญิง 10.3% 

ในประเทศไทย รายงานการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน ระหว่าง พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2565 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี จำนวน 6,752 คน จากโรงเรียน 87 โรงทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ใน พ.ศ. 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ใน พ.ศ. 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนเยาวชนไทยมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ได้มีการทำการตลาดอยู่ตลอดเวลา เช่น การออกแบบเคสบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรูปกล่องนม รูปขนม หรือทำเคสรูปการ์ตูน จนครู พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่สามารถทราบได้ ส่งผลทำให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของเยาวชนจำนวนมาก ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ภาพปก