ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

Script Writer
ศรันยา สีมา, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เมื่อยุคสมัยของสังคมเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้รูปแบบการก่ออาชญากรรมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การก่ออาชญากรรมมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนารูปแบบเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มุ่งเน้นการได้รับผลตอบแทนจำนวนมหาศาลจากการก่ออาชญากรรมทั้งในรูปแบบของเงินและทรัพย์สิน เช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ เป็นต้น และนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเข้าสู่กระบวนการฟอกเงิน เพื่อปกปิดแหล่งที่มาหรือทำให้เสมือนว่าเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย นำมาใช้หมุนเวียนในการกระทำความผิด ทำให้ยากแก่การปราบปราม การฟอกเงินจึงเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ในส่วนของประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ขึ้นใช้บังคับ เพื่อกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีการกำหนดความผิดมูลฐาน ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่เป็นมูลเหตุหรือเป็นที่มาของเงินหรือทรัพย์สินที่จะนำมาฟอกเงินไว้ถึง 28 ประเภทความผิด

“ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” เป็นความผิดมูลฐานประเภทหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญานั้นหมายความถึงความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ถึงมาตรา 347 คือ การกระทำความผิดโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เช่น ก. ชักชวน ข. ไปทำงานที่ต่างประเทศโดยอ้างว่าเคยส่งคนไปทำงานแล้วและเรียกค่าบริการ แต่กลับไม่ดำเนินการให้ตามที่รับรองและไม่คืนเงินให้เมื่อทวงถาม หรือการหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลอื่นของแก็งคอลเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาที่จะเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้นั้นจะต้องมีลักษณะ “เป็นปกติธุระ” ด้วย กล่าวคือ จะต้องมีการกระทำการฉ้อโกงซ้ำ ๆ กันมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือจะต้องได้ความว่ามีการกระทำความผิดในลักษณะเป็นนิสัย ทั้งนี้ การพิจารณาว่ามีลักษณะเป็นปกติธุระหรือไม่จะต้องดูเจตนาของผู้กระทำประกอบด้วย ถึงแม้ว่าจะได้กระทำเป็นครั้งแรกแต่ถ้ามีเจตนาจะกระทำอย่างสม่ำเสมอในภายหน้าก็ถือว่าได้ว่ากระทำเป็นปกติธุระแล้ว

ผู้ที่ทำการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด ไม่ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงของการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือได้มา ครอบครอง ใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ถือได้ว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวได้ ซึ่งหากต่อมาปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระแล้วก็จะถูกศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวพันการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐโดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงควรให้ความสำคัญและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดขององค์กรอาชญากรรม และเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ภาพปก