ปะการัง (Coral) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง (Marine invertebrate) มีสารประกอบเป็นหินปูนโครงร่างแข็ง ซึ่งทำหน้าที่รองรับเนื้อเยื่อรูปทรงคล้ายกระบอกขนาดเล็ก มีหนวดโบกสะบัดบริเวณปลายกระบอก เพื่อดักจับแพลงก์ตอน (Plankton) เป็นอาหาร นอกเหนือจากอาหารที่หาได้ด้วยตนเองแล้ว ปะการังยังได้รับสารอาหารส่วนหนึ่งจากสาหร่ายขนาดเล็กจำนวนมากที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อของปะการัง ซึ่งเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว (Unicellular algae) ที่สร้างอาหารจากการสังเคราะห์แสง และอาศัยอยู่ร่วมกับปะการังในลักษณะ “พึ่งพาอาศัยกัน” (Mutualism)
ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เป็นปะการังที่มีลักษณะสีซีดจนกระทั่งเป็น สีขาวแตกต่างจากปะการังปกติที่จะมีสีสันหลากหลาย ลักษณะดังกล่าวเกิดจากภาวะที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ปะการังเครียด และทำให้เกิดปรากฏการณ์เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาหารให้กับปะการังผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง รวมทั้งยังมีหน้าที่ช่วยเร่งกระบวนการสร้างหินปูน และสีสันอันหลากหลายให้แก่ตัวปะการังอีกด้วย โดยปกติปะการังจะมีเพียงเนื้อเยื่อใสที่ไม่มีองค์ประกอบเม็ดสี (Pigment) สวยงามใด ๆ
แต่เนื่องจากมีสาหร่ายซูแซนเทลลีเข้ามาอยู่อาศัย จึงทำให้ปะการังเกิดสีสันมากมาย ทั้งสีแดง สีส้ม สีเขียว หรือสีน้ำตาล โดยสีสันต่าง ๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่ายซูแซนเทลลีที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับปะการัง ปะการังฟอกขาวเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม คุณภาพน้ำทะเล มลพิษ คราบน้ำมันหรือสารเคมีต่าง ๆ
การฟอกขาวนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งปะการังและระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมด นอกเหนือจากการฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น และยังมีการฟอกขาวที่เกิดจากสาเหตุอื่นอีกหลายประการ เช่น การเกษตรกรรมและการพัฒนาเมืองที่มีผลให้คุณภาพน้ำลดลงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปะการัง การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศทำให้ระดับความเป็นกรดของน้ำทะเลสูงขึ้นและกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตของปะการัง การฟอกขาวในช่วงแรกนั้นปะการังจะยังไม่ตายแต่จะอ่อนแออย่างมาก หากอุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่สภาวะปกติ ปะการังที่อ่อนแอจะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานย่อมจะส่งผลให้ปะการังตายในที่สุด
อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุหลักของปะการังฟอกขาวเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิโลกและอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ สอดคล้องกับที่องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA ได้ประกาศว่าปีนี้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทย มีปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่โดยภาพรวมเหลือเพียงร้อยละ 23 แม้แต่ในต่างประเทศก็ประสบปัญหาดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างกรณีของ เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่สร้างขึ้นโดยสิ่งมีชีวิต มีความยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบัน พบว่าเหลือปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
นอกจากนี้นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของไทย ยังพบว่า การฟอกขาวระดับรุนแรงที่สุด Level 2 ตอนนี้อยู่บริเวณชายฝั่งอันดามันใต้ คือ อ่าวพังงา กระบี่ ตรัง จึงต้องมีการปิดพื้นที่ท่องเที่ยวของอุทยานหลายแห่ง เช่น ปอดะ เกาะกระดาน เป็นต้น ขณะที่ทางฝั่งอ่าวไทย การฟอกขาวระดับรุนแรงอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ที่แสมสาร และจังหวัดตราด ที่เกาะหมากและเกาะกูด แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าระดับการฟอกขาวยังน้อยกว่าฝั่งอันดามันใต้ ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าระดับการฟอกขาวจะเป็นระดับรุนแรงเรื่อย ๆ
ปัญหาปะการังฟอกขาวนี้ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล ทางแก้คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปะการังเหล่านี้ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ ดังนั้น ควรรณรงค์ให้ช่วยกันงดทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงทะเล หลีกเลี่ยงการให้ขนมปังปลา หลีกเลี่ยงการรับประทานปลานกแก้ว หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการยืนบนปะการัง อีกทั้งควรร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อพบเจอสถานการณ์ฟอกขาวให้รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ดังนั้น หากรีบดำเนินการเราอาจจะไม่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลที่มีความสำคัญต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก การแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th