การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมถึงบุตรที่เกิดในไทย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติและการคุ้มครองสิทธิของบุคคล เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ (1961) และอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของคนไร้รัฐ (1954) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐมีมาตรการในการให้สัญชาติแก่บุคคลที่เกิดในดินแดนของตน หากบิดามารดาไม่มีสัญชาติ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แต่ก็ได้ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุว่าทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติ
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติสูงถึง 592,340 คน โดยมีเด็กที่ขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้รัฐถึง 169,241 คน เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เช่น การศึกษาและการรักษาพยาบาล ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติสัญชาติไทย พ.ศ. 2508 ซึ่งกำหนดให้บุตรของผู้ที่มีสัญชาติไทยจะได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายเลือด (jus sanguinis) แต่หากบิดาหรือมารดาไม่มีสถานะทางกฎหมาย บุตรนั้นอาจไม่สามารถได้รับสัญชาติได้ นอกจากนี้ การขาดเอกสารทางทะเบียนและระบบราชการที่ซับซ้อนยังทำให้ผู้มีสิทธิไม่สามารถเข้าถึงการขอสัญชาติได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้จำนวนคนไร้สถานะในประเทศไทยยังมีปริมาณที่สูงมาก
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรี ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน รวมถึงกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร โดยรวมแล้วผู้ที่ได้รับการพิจารณามีประมาณ 483,626 คน หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณา รวมถึงยกเลิกขั้นตอนบางอย่างในกระบวนการทางราชการ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับสถานะทางกฎหมายอย่างเร็วขึ้น
การปรับหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้สัญชาติไทยแก่บุคคลไร้สัญชาติในครั้งนี้ จะทำให้จำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยที่ได้รับสัญชาติจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรไทยอย่างเป็นทางการ ผู้ที่ได้รับสถานะทางกฎหมายจะสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเต็มที่ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการต่าง ๆ อาจส่งผลให้มีการใช้บริการสาธารณะเพิ่มขึ้น และรัฐอาจต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับ แต่ก็จะทำให้ผู้ที่ได้รับสถานะทางกฎหมายจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อาจเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ได้รับสถานะสามารถเดินทางได้อย่างเสรี จะช่วยลดจำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน
ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติของกลุ่มชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานในครั้งนี้ มุ่งเน้นการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาและลดขั้นตอนทางราชการที่ไม่จำเป็น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับสถานะทางกฎหมายที่เหมาะสมโดยเร็ว อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาสังคมที่เกิดจากการไร้สถานะทางกฎหมายของบุคคลไร้สัญชาติเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th