ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย

Script Writer
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“พื้นที่ชุ่มน้ำ” เป็นพื้นที่มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์นานาชนิด อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ลดการพังทลายของหน้าดิน และรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของระบบนิเวศโดยจากรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล คาดการณ์ว่าทุกทวีปทั่วโลกมีพื้นที่ชุ่มน้ำคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 8.3–10.2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,187–6,375 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ1.6-2.0 ของพื้นที่โลกโดยในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย แบ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดร้อยละ 44.8 และเป็นพื้นที่น้ำเค็มร้อยละ 55.2 ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกเกือบร้อยละ 90 เสื่อมโทรมลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1700 ส่งผลให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำจึงได้มีการประชุมรับรองอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Convention on Wetlands of International Importance as Waterfowl Habitat or Ramsar Convention) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และยับยั้งการสูญเสียระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2541 โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ประสานงานระดับชาติของอนุสัญญาฯ ซึ่งข้อตกลงหลัก ๆ ของประเทศที่เข้าร่วมในภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ คือ ภาคีต้องคัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเพื่อบรรจุในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ กำหนดและวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และขอความร่วมมือให้ภาคีจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ

จากการดำเนินงานของประเทศไทยได้คัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อบรรจุในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ จำนวน 15 แห่ง ประกอบด้วย

  1. 1) พรุควนขี้เสี้ยน จังหวัดพัทลุง บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยมีลักษณะเป็นป่าพรุน้ำท่วมขังและเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกาบบัว ซึ่งพบได้ที่นี่เพียงแห่งเดียว
  2. 2) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่และเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพในฤดูหนาวไม่น้อยกว่า 33 ชนิด หนึ่งในนั้นพบนกที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย คือ เป็ดดำหัวดำ
  3. 3) ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่หายาก มีหาดเลนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของหอยหลอดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
  4. 4) ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ขึ้นหนาแน่น พบความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย
  5. 5) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย เป็นบึงน้ำจืดขนาดเล็กและเป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพอย่างน้อย 121 ชนิด และนกชนิดพันธุ์หายากซึ่งอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก
  6. 6) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส เป็นป่าพรุดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่ยังพบพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างน้อย 50 ชนิด และสัตว์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม อาทิ นกตะกรุมและนกเปล้าใหญ่
  7. 7) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง–ปากแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เป็นถิ่นอาศัยของนกชนิดพันธุ์ที่หายากและอยู่ในสภาพถูกคุกคาม อาทิ นกซ่อมทะเลอกแดง นกฟินฟุต พะยูน และเป็นที่พักของนกอพยพจากแอฟริกา คือ นกหัวโตกินปู
  8. 8) อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี–ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง ซึ่งมีระบบนิเวศหลากหลายและเป็นพื้นที่ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
  9. 9) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเกาะประมาณ 42 เกาะ เป็นแหล่งพักพิงของปลาหลายชนิด อาทิ ปลาทู ปลารัง และปลาเก๋า อีกทั้งเป็นแหล่งปะการังที่งดงาม
  10. 10) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นอ่าวตื้นล้อมรอบด้วยป่าชายเลนอันเป็นที่อาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน
  11. 11) อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดเป็นแหล่งพักพิงและสร้างรังวางไข่ของนกอพยพ และเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือปลาที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
  12. 12) กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ มีลักษณะเป็นกุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงพบพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่นและเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพที่มีสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก คือ เป็ดดำหัวดำ
  13. 13) เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยที่เป็นแหล่งปะการังหายากและแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าตนุและเต่ามะเฟือง
  14. 14) หมู่เกาะระ–เกาะพระทอง จังหวัดพังงา โดยมีความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นแหล่งอาศัยของเต่าทะเลและนกตะกรุม ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์ และ
  15. 15) แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม โดยพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมีป่าบุ่งป่าทาม (ระบบนิเวศที่ราบน้ำท่วมถึง) ซึ่งเป็นผืนใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ ปลาบึก ปลาตองลาย และปลายี่สก

จากการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ของประเทศไทย เป็นการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับชุมชนท้องถิ่นและประเทศให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เป็นผลดีต่อการเพิ่มศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับโลก เปิดโอกาสให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้เกิดการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เพื่อให้พื้นที่ชุ่มน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของประเทศไทยคงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

ภาพปก