ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) คือ การเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อแก้ไขการจราจรที่ติดขัด ซึ่งจัดเก็บเมื่อผู้ใช้รถขับเข้าไปใจกลางเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเป็นการคิดทั้งกระบวนการทั้งระบบ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาจราจรหนาแน่นด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น จัดทำระบบรองรับด้านขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ จนนำไปสู่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การปฏิรูปรถเมล์ การปฏิรูประบบขนส่งทางราง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว ลดมลภาวะทางอากาศและฝุ่น PM 2.5
กระทรวงคมนาคม ได้เสนอนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแบบในต่างประเทศ เพื่อนำรายได้จากการจัดเก็บซื้อสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาล และสนับสนุนการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ซึ่งรัฐจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดคันละ 40-50 บาท และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้วันละ 7.5 แสนคัน รวมเป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านต่อปี
การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเพื่อใช้แก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตเมือง ได้แนวคิดจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จ อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ กรณีตัวอย่างในต่างประเทศคือ กรุงลอนดอนสหราชอาณาจักร ที่กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ช่วงเวลา 07.00-18.00 นาฬิกา และในวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 นาฬิกา ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับผลลัพธ์จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่รถติดของกรุงลอนดอน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการจราจรในเขตพื้นที่เก็บค่าธรรมเนียมลดลงร้อยละ 16 ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 18 อีกทั้งกรุงลอนดอนยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยสามารถนำเงินส่วนที่จัดเก็บไปใช้เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ สำหรับประเทศในอาเซียนนั้น สิงคโปร์ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ในอัตรา 1-6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็นวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 06.00-22.00 นาฬิกา ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งสามารถปรับลดปริมาณการจราจรในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 15 ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่นำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติไม่ว่าจะเป็น อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่งในเขตเมือง
สำหรับการศึกษาเพื่อดำเนินการในประเทศไทยนั้น กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาเพื่อนำสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์พื้นที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมจะต้องมีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คันต่อวัน ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าวเป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ในช่วงเวลา 07.00-19.00 นาฬิกา จากการสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนคาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จำนวน 6 เส้นทาง พื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ประกอบด้วย
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน
การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งกรุงเทพมหานครเผชิญปัญหานี้มาอย่างยาวนาน จนเป็นเมืองหลวงที่ติดอันดับของโลกเรื่องปัญหาจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ก่อนนำแนวคิดดังกล่าวมาปฏิบัติจะให้มีการศึกษาถึงผลกระทบก่อนว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร การทำความเข้าใจให้ประชาชนและเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะดำเนินการ หากเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นขนส่งสาธารณะ จะช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนถนนได้ ส่งผลไปสู่การลดปริมาณมลพิษจากควันที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งในการสนับสนุนการใช้รถสาธารณะ ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารให้มีคุณภาพและบริการที่ดียิ่งขึ้น
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th