หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)

Script Writer
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2024-09
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกา 1 คน กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ซึ่งได้รับเลือกโดย ก.ตร. และให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ในการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) จำนวน 7 คน โดยกรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว แล้วเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ 

  1. 1. เสนอแนะต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับระบบพิทักษ์คุณธรรม 
  2. 2. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ตร.
  3. 3. พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้ร้องทุกข์ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป การร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกองบัญชาการขึ้นไป ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. และการร้องทุกข์ว่ากฎ ก.ตร. ที่ออกมาใช้บังคับก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. 
  4. 4. พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม ในกรณีที่ ก.พ.ค.ตร. เห็นว่ากฎกระทรวง กฎ ก.ตร. ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ มติ หรือคำสั่งใดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายเป็นการบังคับทั่วไปไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม ให้ ก.พ.ค.ตร. แจ้งให้ผู้มีอำนาจออกกฎเหล่านั้นแก้ไขหรือยกเลิกตามควรแก่กรณี
  5. 5. ออกกฎ ก.พ.ค.ตร. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ.ค.ตร. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
  6. 6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ ก.พ.ค.ตร. ในการปฏิบัติหน้าที่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยด้วยตนเองจะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดเป็นผู้พิจารณาหรือวินิจฉัยแทนมิได้  ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ที่เป็นการวินิจฉัยว่ากฎ ก.ตร. ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด

อนึ่ง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ชุดปัจจุบัน เป็นการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการปฏิรูปตำรวจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภาพปก