ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

Script Writer
แดนชัย ไชวิเศษ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ และเงินตรา

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่กำหนดให้มีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 45 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ตราข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 กำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติกระทำได้โดยรัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีบทบัญญัติให้ขึ้นหรือลดหรือเลิกหรือตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ตามมาตรา 53 กำหนดว่า ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น จะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง ต่อมาได้บัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อกำหนดความหมายหรือลักษณะของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

โดยร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ได้แก่

  1. (1) มีสาระเกี่ยวกับการตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร เช่น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับค่าลดหย่อนการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดามีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีหรืออากร 
  2. หรือตัวอย่างกรณีการเพิ่มประเภทที่จัดเก็บภาษีหรืออากรขึ้นใหม่ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่กำหนดให้การส่งยางออกนอกราชอาณาจักรต้องเสียอากรซึ่งจากเดิมที่ไม่ต้องเสียอากร เป็นต้น
  3. (2) มีสาระเกี่ยวกับการจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน เช่น ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. .... กําหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสระผู้บริโภคเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอิสระผู้บริโภคอันเป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ เป็นต้น
  4. (3) มีสาระเกี่ยวกับการกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. .... กำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยเป็นการค้ำประกันเงินกู้ในนามของรัฐบาล เป็นต้น
  5. (4) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินตรา เช่น พระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 พระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว พ.ศ. 2489 เป็นต้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน กำหนดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะมีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้มีสิทธิดังกล่าวได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน และเป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติมทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องใช้ดุลยพินิจจากหลายฝ่ายร่วมกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีการประชุมร่วมกัน 

ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจึงต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอำนาจในการรับรองร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ในฐานะฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการหารายได้ให้แก่ประเทศและบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ และเพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ตรวจสอบถึงความจำเป็น ความเหมาะสม และความพร้อมด้านงบประมาณ โดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนี้ เมื่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วจะกระทบต่องบประมาณของแผ่นดิน หรือสร้างภาระผูกพันต่องบประมาณของแผ่นดิน ฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นหลักการที่สำคัญของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่ต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ภาพปก