ความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียนเกี่ยวกับถ่านหิน

Script Writer
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-04
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมของภูมิภาคอาเซียน เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของสังคมเมือง ประกอบกับการที่อาเซียนเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก จึงมีความต้องการพลังงานของภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนปี พ.ศ. 2559-2568 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation (APAEC) 2016-2025) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยคำนึงถึงประเด็นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย 
และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (AMEM) ครั้งที่ 33 เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Vision 2025) และแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (AEC Blueprint 2025) โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2559-2563 อาเซียนให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมของการใช้พลังงาน และการลดการใช้พลังงานในอาเซียน และระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2564-2568 อาเซียนให้ความสำคัญใน 7 สาขา ประกอบด้วย

  1. 1) ความร่วมมือด้านแผนพลังงานภูมิภาค
  2. 2) การเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน
  3. 3) การเชื่อมโยงท่อก๊าซอาเซียน
  4. 4) พลังงานทดแทน
  5. 5) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน
  6. 6) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และ
  7. 7) ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานของอาเซียนต่อไป และมีเป้าหมายการบรรลุสัดส่วนพลังงานทดแทนที่ร้อยละ 23 จากพลังงานทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2568 ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการใช้ถ่านหิน เนื่องจากถ่านหินเป็นต้นเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด และทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง ทั้งนี้ ภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จากรายงานของ International  Energy Agency: IEA พบว่าปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4.08 หมื่นล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประมาณร้อยละ  89 เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้พลังงานและกระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินมากกว่าร้อยละ 40 


ตัวอย่างประเทศในอาเซียนที่ให้ความร่วมมือด้านพลังงานการใช้ถ่านหิน

  1. 1. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อนุมัติแผนการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573 และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 รวมทั้งลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้เหลือร้อยละ 20 ของแหล่งจ่ายพลังงานของประเทศ และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยการส่งเสริมอาคารสำนักงานและบ้านเรือนกว่าร้อยละ 50 ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์
  2. 2. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของสาธารณรัฐอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2564-2573 เป็นร้อยละ 48 จากร้อยละ 30 ในแผน ในปี พ.ศ. 2564-2571 และปลดระวางโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินเก่า เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2606
  3. 3. ประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านการดำเนินงานตามแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยกำหนดนโยบายไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และเริ่มปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป

จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศให้ความสำคัญและร่วมมือกันเพื่อลดหรือเลิกใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด และภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดประมาณ 2 ใน 3 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนปี พ.ศ. 2559-2568 เพื่อลดการใช้ถ่านหินแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากถ่านหินเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกป่วยหรือเสียชีวิตจากการสูดดมถ่านหินหรือมลพิษสารต่าง ๆ ในถ่านหินทำปฏิกิริยาเคมีกับธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่การเลิกใช้ถ่านหินอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่มั่นคงและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบพลังงาน ดังนั้น หลายประเทศจึงออกนโยบาย
ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติฯ ของแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยคำนึงถึงประเด็นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนยังคงต้องมีจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานทุกชนิดอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ และควรส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ภาพปก