โรงเรียนผู้สูงอายุ

Script Writer
วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-02
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี 2548 กล่าวคือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ อันเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น และในปี 2574 จะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยมีประชากรสูงอายุเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด การที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศต้องมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ครอบครัวต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุเองต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง ความพิการหรือทุพพลภาพ และปัญหาการขาดผู้ดูแล เนื่องจากสภาพครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ 

ภาครัฐ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มี “โรงเรียนผู้สูงอายุ” กล่าวคือ การจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตผ่านหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุใน 6 มิติ ได้แก่

  1. 1) ด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี อาทิ การดูแลสุขภาพในวัยสูงอายุ โรคเรื้อรังและพบมากในวัยสูงอายุ และข้อควรระวังในการใช้ยา (หลักเบื้องต้น)
  2. 2) ด้านเศรษฐกิจและวิชาชีพ อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การออมในวัยสูงอายุ และการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย
  3. 3) ด้านศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม อาทิ การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ
  4. 4) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และจิตอาสา อาทิ การใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและที่พักอาศัยในวัยผู้สูงอายุ
  5. 5) ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร อาทิ การป้องกันภัยสำหรับผู้สูงอายุ และ
  6. 6) ด้านสวัสดิการ ได้แก่ กฎหมายและสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้สร้างพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย 

การเกิดขึ้นของโรงเรียนผู้สูงอายุยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2554 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 2,456 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2567) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่ทำกิจกรรม เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งลดภาวการณ์เป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียงและลดภาระการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัว กรมกิจการผู้สูงอายุคาดการณ์ว่าจะขยายผลการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุประจำจังหวัดทั่วประเทศได้เสร็จสิ้นในปี 2570 โดยจะดำเนินการเพิ่มการจัดตั้งปีละ 1,067 แห่ง

อย่างไรก็ตาม พบว่าการดำเนินการของโรงเรียนผู้สูงอายุประสบปัญหาในบางประการ ได้แก่ การขาดความรู้และทักษะในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ การขาดงบประมาณในการดำเนินงาน การศึกษาดูงานจากหน่วยงานภายนอกที่มีผลต่อเวลาและเนื้อหาการเรียนการสอน การขาดแคลนสถานที่สำหรับใช้เป็นห้องเรียนและสถานที่จัดกิจกรรม ความแตกต่างของผู้เรียน ฯลฯ ดังนั้น ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนผู้สูงอายุ อาทิ

  1. 1) การปรับกระบวนการเรียนการสอน รูปแบบ วิธีการสอนและเทคนิคการสอน
  2. 2) การแสวงหาความร่วมมือ เครือข่ายและการสร้างแกนนำ
  3. 3) การแบ่งชั้นเรียนตามปีที่เรียนและการแบ่งรุ่น
  4. 4) การสร้างจุดแข็งและจุดเด่นของโรงเรียน
  5. 5) การพัฒนากิจกรรมให้หลากหลาย
  6. 6) การจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยศิษย์เก่า และขยายไปให้ความรู้ในชุมชน และ
  7. 7) การถ่ายโอนภารกิจโรงเรียนผู้สูงอายุให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น หากภาครัฐต้องการบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุประจำจังหวัดทั่วประเทศและส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงเรียนผู้สูงอายุควบคู่กันไป ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดตั้งงบประมาณที่เหมาะสม การจัดสถานที่สำหรับใช้เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ การแสวงหาความร่วมมือจากผู้สูงอายุที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านหรือแกนนำผู้สร้างอายุให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และแนวทางการถ่ายโอนภารกิจโรงเรียนผู้สูงอายุให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการถ่ายโอนทั้งภารกิจและงบประมาณดำเนินการ

ภาพปก