มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68

Script Writer
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-02
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกจำนวนมาก โดยในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 226,231 ล้านบาท และจากข้อมูลสำมะโนการเกษตร ในปี 2566 พบว่าการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรของไทยยังคงใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวในสัดส่วนมากที่สุดมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวคิดเป็นร้อยละ 48.4 ของเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งหมด และข้าวยังคงเป็นชนิดพืชที่มีเกษตรกรปลูกมากที่สุดในประเทศ โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและนาปรังรวมกว่า 4.87 ล้านครัวเรือน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญลำดับต้นของโลกซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังคงประสบปัญหาสำคัญทั้งในด้านเสถียรภาพราคาผลผลิต และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น รัฐบาลในหลายยุคสมัยจึงได้มีมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีการผลิต 2567/68 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังนี้ 

  1. 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อรองรับผลผลิตข้าวเปลือกที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายสินเชื่อให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการและวงเงินสินเชื่อต่อตัน และรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้กู้ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกและเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก
  2. 2) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งใช้กลไกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรช่วยเร่งรับซื้อข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาด เพื่อรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการเก็บข้าวเปลือกไว้แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 4.50 ต่อปี ซึ่งสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี
  3. 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกไว้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60-180 วัน นับแต่วันที่รับซื้อ 
  4. 4) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก และสนับสนุนให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการผลิตข้าว โดยรัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท 

นอกจากนั้นแล้ว หน่วยงานภาครัฐยังได้มีการดำเนินการร่วมกันเพื่อจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ได้แก่ การกำหนดอุปสงค์และอุปทาน การผลิต การเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว การตลาดในประเทศและการตลาดต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญต่าง ๆ ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โครงการประกันภัยข้าวนาปี โครงการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังที่จะบริหารจัดการสินค้าข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างความเป็นธรรมในการขายข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้สินค้าข้าวไทยเป็นสินค้าที่คงความเป็นอัตลักษณ์และมีศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
 

ภาพปก