O-NET: การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน

Script Writer
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-02
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Test) หรือ O-NET เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยทำการทดสอบผู้เรียนใน 3 ระดับชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีเป้าหมายในการนำผลการทดสอบไปใช้สำหรับเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบการศึกษา ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนระดับชาติ จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สทศ.” ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "National Institute of Educational Testing Service (Public  Organization)" หรือ "NIETS" จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2548 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษา บริการสอบวัดความรู้ความสามารถ และการสอบวัดมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ เพื่อนำผลไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเทียบระดับและการเทียบโอนผลการเรียนที่มาจากการศึกษาในระบบเดียวกันหรือการศึกษาต่างระบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางข้อมูลการทดสอบทางการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนและให้บริการผลการทดสอบแก่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

การจัดสอบ O-NET นั้น ได้เริ่มต้นดำเนินการครั้งแรกในปีการศึกษา 2548 โดยเริ่มจัดสอบให้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทำการทดสอบจำนวน 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ ต่อมาในปีการศึกษา 2551 ได้เพิ่มการจัดสอบ O-NET ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเพิ่มจำนวนกลุ่มสาระอีก 3 สาระ คือ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ดังนั้นในการสอบ O-NET จึงประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระ

ปัจจุบันการสอบ O-NET ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะทดสอบความรู้หลัก 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ สำหรับการทดสอบความรู้นักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะเพิ่มอีกหนึ่งวิชา คือ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

ในส่วนของข้อสอบ O-NET นั้น ข้อสอบจะอ้างอิงตามสาระมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 รูปแบบข้อสอบประกอบด้วยข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย โดยข้อสอบปรนัยมีจำนวนตัวเลือกตั้งแต่ 4 ตัวเลือกขึ้นไป คำตอบที่ผู้สอบต้องตอบมีตั้งแต่ 1 คำตอบ 2 คำตอบ จนกระทั่งถึงหลายคำตอบแบบที่เป็นเชิงซ้อนหรือการเลือกคำตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน ส่วนข้อสอบแบบอัตนัยมีรูปแบบที่ให้ผู้สอบเขียนคำตอบเอง และแบบที่ระบายคำตอบเป็นตัวเลข 

จากการติดตามผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2549-2566) พบว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในทุกการทดสอบต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นเวลา 15 ปี ติดต่อกัน คิดเป็นร้อยละ 88 มีเพียงในปี 2551 เท่านั้นที่วิทยาศาสตร์มีคะแนนร้อยละ 51.68 และในปี 2554 ที่คณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 52.04 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 50 เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2553 คณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ ร้อยละ 14.99 อีกด้วย หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) อยู่ในระดับต่ำนั้น เกิดจากคุณภาพของครูผู้สอน โดยเฉพาะการผลิตครูเฉพาะสาย เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นสาขาที่ขาดแคลน ทำให้ต้องนำครูจากสาขาอื่นมาทดแทน เมื่อคุณวุฒิของครูไม่ตรงตามสาระการสอน จึงส่งผลถึงคุณภาพการสอนของครู ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังพบว่าข้อสอบ O-NET สวนทางกับหลักสูตร การเรียนการสอน เนื่องจากแบบทดสอบ O-NET จะเน้นการคิดวิเคราะห์หาคำตอบมากกว่าการจดจำ คำถามประเภทความจำมีน้อยมาก แต่การสอนในประเทศไทยยังเน้นการท่องจำ ดังนั้น เมื่อนักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ย่อมทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง และยังพบอีกว่านักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้ความสำคัญต่อการสอบ O-NET น้อยลง เนื่องจากไม่สามารถนำคะแนนสอบไปใช้ในการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้

ดังนั้น ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในระดับนโยบายมีข้อมูลคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนา ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มสถานศึกษาที่มีผลคะแนนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในส่วนของสถานศึกษาทำให้ทราบถึงระดับคุณภาพของโรงเรียนเพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาครูผู้สอน นอกจากนี้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถใช้ผลคะแนนเป็นแนวทางเพื่อให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพหรือการศึกษาต่อ รวมทั้งใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนบุตรหลานให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้อีกด้วย

ภาพปก