โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA

Script Writer
สุริยา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA จะเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน 

PISA จะเลือกประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่จบการศึกษาภาคบังคับ ด้วยการสุ่มตัวอย่างนักเรียนตามระบบอย่างเคร่งครัด และจะทำการประเมินอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ 3 ปี เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพการศึกษา และมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย โดยการประเมินจะเป็นการวัดความรู้จากทั้ง 3 ด้านไปพร้อมกันคือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ซึ่งความฉลาดรู้ทั้ง 3 ด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน และการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย โดยข้อสอบของ PISA มีความน่าสนใจและท้ายทาย มีโจทย์ข้อสอบที่มีความหลากหลายสถานการณ์ในชีวิตจริงให้นักเรียนได้อ่าน ซึ่งแต่ละสถานการณ์อาจมีหลายคำถามและหลากหลายรูปแบบในการตอบคำถาม เช่น การเลือกตอบ เขียนตอบสั้น ๆ และเขียนอธิบาย ในการประเมินที่ผ่านมา นักเรียนจะทำข้อสอบในเล่มแบบทดสอบ แต่สำหรับการประเมิน PISA 2015 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปแบบการประเมินจากการเขียนตอบมาใช้เป็นการพิมพ์คำตอบด้วยคอมพิวเตอร์ กำหนดระยะเวลาสองชั่วโมงในการทำแบบทดสอบ และใช้เวลาอีกหนึ่งชั่วโมงในการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวนักเรียนและการเรียน นอกจากนี้ ยังมีแบบสอบถามสำหรับโรงเรียนที่ต้องตอบบนคอมพิวเตอร์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการการศึกษาภายในโรงเรียนอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือ PISA ในฐานะประเทศนอกสมาชิกของ OECD ตั้งแต่แรกเริ่มในปี พ.ศ. 2543 ในโครงการ PISA 2000 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยวัตถุประสงค์หลักของการเข้าร่วมประเมิน PISA ของประเทศไทยคือ เพื่อนำผลการประเมินดังกล่าวมาเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องใช้ในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกในอนาคต และสามารถกำหนดเป็นนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา อีกทั้งผลการประเมินนี้ ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการสอนของครู และแนวทางการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ 

ปัจจุบันได้มีการประเมิน PISA 2022 ซึ่งการประเมินครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการประเมินทางด้านคณิตศาสตร์ โดย PISA มีความเห็นว่าบุคคลที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ซับซ้อนร่วมกับการหาวิธีแก้ปัญหาโดยการคิดหรือแปลงปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์ ใช้คณิตศาสตร์ และตีความและประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ได้ ซึ่งในการประเมินครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ สำหรับในประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดสอบ PISA เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย โดยผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ  ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง  ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ

นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังได้รายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้านซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ จากผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ร้อยละ 32 ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ร้อยละ 69 ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และเอสโตเนีย พบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 85 ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ร้อยละ 47 และร้อยละ 35 ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ร้อยละ 76 และร้อยละ 74 ตามลำดับ

ภาพปก