คาร์บอนเครดิตโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

Script Writer
พรรณทิภา นิลโสภณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภาคการเกษตรมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากครัวเรือนในภาคการเกษตรไทยมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด แต่ภาคการเกษตรกลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเกษตร เช่น ยางพาราในช่วงที่ราคาตกต่ำผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา นอกเหนือจากการผลิตยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา โดยสร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาร์บอนเครดิตคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดและกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายผ่านตลาดคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งตลาดคาร์บอนโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. 1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ประกาศเป็นกฎหมายและมีบทลงโทษเมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มาตรการ EU Emission Trading System (EU ETS) ในสหภาพยุโรป และ
  2. 2) ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนของไทยเป็นแบบภาคสมัครใจ โดยเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทยหรือโครงการ T-VER 

จากการที่ยางพาราเป็นพืชยืนต้นมีคุณสมบัติสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพืชยืนต้นประเภทอื่น ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยางพารา 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 47.4 KgCO2eq/ปี ในขณะที่ปาล์มน้ำมัน 1 ต้น ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 28.0 KgCO2eq/ปี เพราะต้นยางพารามีลำต้นหลักเพียงต้นเดียว ไม่มีการแตกกอเหมือนกับพืชยืนต้นประเภทอื่น ประกอบกับเส้นรอบวงของต้นที่เพิ่มขึ้นราว 6.9 ซม./ปี ทำให้มีมวลชีวภาพเหนือดินสูงส่งผลให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงตามไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 4.2 tCO2eq/ปี มูลค่าทั้งสิ้น 722,400 บาท/1,000 ไร่ นอกจากนั้น อายุของต้นยางพาราก็มีผลต่ออัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยต้นยางพาราที่มีอายุ 6-10 ปี หรือต้นยางพาราที่เริ่มกรีดน้ำยางได้ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากที่สุดอยู่ที่ 4.9 tCO2eq/ไร่/ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ต้นยางพารามีการเจริญเติบโตได้ดี รองลงมา คือ ยางพาราที่มีอายุ 11-15 ปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 4.4 tCO2eq/ไร่/ปี โดยศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเมื่อต้นยางมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและยื่นขึ้นทะเบียนโครงการนำร่องกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,299 ราย และมีพื้นที่สวนยางพาราที่เข้าร่วมแล้วกว่า 43,481 ไร่ โดยคาดว่าการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 7 ปี จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้าน tCO2eq คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท และในอนาคตการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางทั้ง 20 ล้านไร่ทั่วประเทศภายใน พ.ศ. 2593 โดยคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ในไทยนั้น จะต้องผ่านกระบวนการ

  1. 1) การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และ
  2. 2) การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER  

โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำหรับโครงการ T-VER ในพื้นที่สวนยางพารา จะมีเงื่อนไขเป็นไปตามโครงการ T-VER ภาคเกษตร มาตรฐานไม้ผลไม้ยืนต้น โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจะสามารถซื้อขายได้ผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter: OTC) หรือผ่านแพลตฟอร์มหรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) แต่ในปัจจุบันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐาน T-VER ยังเป็นเพียงเพื่อการใช้ประโยชน์และซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น

ดังนั้น การขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราสามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางเข้าสู่กระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายใน พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ใน พ.ศ. 2608 ต่อไป

ภาพปก