ประเทศไทยกับการประชุม COP29

Script Writer
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ทั่วโลกและประเทศไทยต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง โดยได้ร่วมกันจัดการประชุมเรียกว่า “COP” หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของประชาคมโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในประเด็นด้านเทคนิค การดำเนินงาน และการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเจรจาความตกลงในการป้องกันและปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเสนอแผนและลงนามในความตกลงของประเทศภาคีที่เข้าร่วม โดยการประชุมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ดำเนินมาถึงสมัยที่ 29 (COP29) ซึ่งจัด ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11–22 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญจากการประชุม COP29 ประกอบด้วย

  1. 1) ข้อตัดสินใจด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Countries) จะสนับสนุนเงินเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) จำนวนประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน พ.ศ. 2578
  2. 2) การดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีสมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนข้อมูลที่แต่ละประเทศต้องรายงาน ระบบทะเบียนการให้อนุญาต/การเปลี่ยนแปลงการให้อนุญาต และการรับรองแนวทางการพัฒนา ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศปรับปรุงและกำหนดแนวทางในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ
  3. 3) การกำหนดตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกให้แล้วเสร็จ เพื่อนำไปรับรองในการประชุม COP30 ณ ประเทศบราซิล

ในส่วนของประเทศไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้มอบหมายให้ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมกับผู้นำรัฐบาลของประเทศทั่วโลกเพื่อหารือถึงความพยายามดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ และการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งในการประชุม COP29 ประเทศไทยได้เสนอ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. 1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 43จากเป้าหมายร้อยละ 30–40 หรือคิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)
  2. 2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้องบูรณาการในประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินตามแผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขา การจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศ และข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ
  3. 3. เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะบังคับใช้ใน พ.ศ. 2569 โดยกำหนดให้เป็นเครื่องมือสำคัญสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ การจัดทำฐานข้อมูล และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  4. 4. นำเสนอตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)
  5. 5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งประเทศไทยสามารถจัดส่งได้ตามกำหนดเวลาภายในเดือนธันวาคม 2567 

การเข้าร่วมการประชุม COP29 ของประเทศไทยถือเป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศอย่างแข็งขัน เพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยควรต้องสร้างความพร้อมและวางกลยุทธ์ให้สามารถเข้าถึงเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินงานของทุกภาคส่วน รวมถึงพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการและการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Investment) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ภาพปก