การพิจารณาญัตติด่วนของสภาผู้แทนราษฎร

Script Writer
ชีวานนท์ กันย์ภิวัฒน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-01
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจสำคัญทางด้านนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย โดยการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งถ้าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้วก็จะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป และการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลโดยให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้สภาพิจารณาก่อนที่วุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในลำดับถัดไป การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี และการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ โดยคณะกรรมาธิการ

นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านการพิจารณาญัตติต่าง ๆ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า “ญัตติ” คือ ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภา และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน หรือมีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ หรือในทางใด ๆ  ก็ตาม หรือในอันที่จะขจัดเหตุใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง จะเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาพิจารณาเป็นการด่วนก็ได้ 

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำหนดว่า ให้ประธานสภาบรรจุญัตติด่วนเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ขณะที่ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ หรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใด คณะหนึ่งกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภาตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าสมาชิกเป็นผู้เสนอต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน สำหรับมาตรา 129 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือคณะกรรมาธิการร่วมกันตามมาตรา 139 เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด 

ดังนั้น ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่งสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนก็จะเสนอเป็นญัตติด่วนเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาศึกษา เนื่องจากการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับมีความยืดหยุ่นในเรื่องคุณสมบัติของกรรมาธิการที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละคณะสามารถมีจำนวนกรรมาธิการมากกว่า 15 คน เมื่อเปรียบเทียบกับคณะกรรมาธิการสามัญที่มีกรรมาธิการได้ไม่เกิน 15 คน ต่อคณะ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการเพราะมีภารกิจเฉพาะตัวตามที่สภามอบหมาย รวมถึงสามารถเป็นเวทีที่ใช้ในการหาทางออกของปัญหาร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และภาคประชาชน ผ่านการเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของแต่ละฝ่าย 

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งสภาอาจจะมีมติมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาศึกษาญัตติด่วนเพื่อไม่ให้เกิดภาระทางด้านงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินการ และลดข้อจำกัดในเรื่องการขาดเจ้าหน้าที่ที่จะสนับสนุนงานให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่มีบางกรณี ที่ประชุมสภาอาจมีมติให้ส่งญัตติด่วนไปให้รัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือดำเนินการโดยไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา หรือไม่ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาศึกษา หากเห็นว่าญัตติด่วนนั้น ไม่มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบรอบด้าน และประเด็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามญัตติด่วนมีความชัดเจนเพียงพอแล้ว

เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภาตั้งขึ้น หรือคณะกรรมาธิการสามัญที่สภามอบหมายพิจารณาศึกษาญัตติด่วนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะต้องจัดทำรายงานพร้อมข้อสังเกตเพื่อรายงานต่อที่ประชุมสภา หากที่ประชุมสภามีมติรับทราบรายงานและเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการแล้ว ประธานสภาจะส่งรายงานและข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือดำเนินการต่อไป และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ประธานสภาส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการให้คณะรัฐมนตรี ศาล  องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบ คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตนั้นประการใดหรือไม่ ให้ประธานสภาแจ้งให้ที่ประชุมสภาทราบในโอกาสแรกที่มีการประชุม

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาญัตติด่วนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สภาผู้แทนราษฎรใช้ตรวจสอบหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักเสนอญัตติด่วนเพื่อให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาเร่งด่วนของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอย่างรอบด้าน และเป็นเวทีพูดคุยหารือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเร่งด่วนที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อได้ผลการศึกษาและข้อสังเกตแล้วสภาก็จะส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือดำเนินการต่อไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรายงานให้สภาทราบว่าได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตนั้นประการใดหรือไม่

ภาพปก