Generation Beta (Gen Beta) คือ กลุ่มประชากรที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2568 ถึง พ.ศ. 2582 ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เกิดภายหลังจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเติบโตมาในยุคของเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีการพัฒนาโดยประชากรรุ่นก่อนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) หรือที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยมีการคาดการณ์ว่าเด็กที่เกิดในยุคนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลกถึงร้อยละ 16 ในอีก 10 ปีข้างหน้า และอาจมีชีวิตยืนยาวไปถึงศตวรรษที่ 22 อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดในยุค Generation Beta (Gen Beta) ได้เกิดมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมในหลากหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขั้นรุนแรง ดังนั้น การมีกฎหมายเพื่อรองรับยุค Generation Beta (Gen Beta) จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรมุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาทักษะ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล และลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างชนชั้นทางสังคม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณในการปรับปรุงหลักสูตร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงอาจเกิดความล่าช้าในการปรับตัวของระบบการศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จะต้องมีการเร่งสร้างความรู้และเข้าใจ มีการวางแผนระยะยาวในการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นทักษะดิจิทัลและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์และอบรมวิชาชีพ
2. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ลดปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การแสวงหาผลประโยชน์ทางออนไลน์ แม้ว่าเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายในสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนากฎหมายให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) อย่างรับผิดชอบและเร่งสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกดิจิทัล
3. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ยอมรับความแตกต่างและลดการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการร่วมมือกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งการพัฒนากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมที่อาจใช้ระยะเวลานานและอาจก่อให้เกิดการขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องพัฒนากฎหมายที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม
4. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาด แม้ว่าการพัฒนากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นซึ่งอาจจะเกิดการต่อต้านจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุนได้ มีการวางมาตรการที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
5. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการทำงานและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำงานทางไกล ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากอาจเกิดความไม่แน่นอนในตลาดแรงงานและความไม่มั่นคงทางการเงินของแรงงาน มีการแข่งขันที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัลจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก จึงควรพัฒนากฎหมายแรงงานให้รองรับรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายและสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมีประสิทธิภาพ
6. การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีในระบบสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสุขภาพ เช่น กระบวนการวินิจฉัยโรคผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) การให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ให้สามารถขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนากฎหมายด้านนี้ควรมุ่งเน้นในเรื่องระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้น จำเป็นต้องพัฒนากฎหมายที่มีการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ในอนาคตให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันถ่วงที
จะเห็นได้ว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับประชากรยุค Generation Beta (Gen Beta) จำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคม ประเทศไทย ควรพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนากฎหมายของประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะประชากรยุค Generation Beta (Gen Beta) ต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th