ภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย (Value Added Tax)

Script Writer
บูชิตา ไวทยานนท์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2025-03
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบภาษีของประเทศ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความจำเป็นในการปฏิรูปภาษีเพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ระบบภาษีการค้า ซึ่งเป็นระบบภาษีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 มีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งความซับซ้อนในการบริหารจัดเก็บ การหลีกเลี่ยงภาษีที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างและการไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเห็นความสำคัญของการนำระบบภาษีใหม่ที่มีความโปร่งใสและยืดหยุ่นกว่าเดิมมาใช้ โดยระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ในปี 2535 ภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำมาใช้แทนภาษีการค้า โดยมีการตราพระราชบัญญัติภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2534 เป็นกรอบทางกฎหมาย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มต้นด้วยอัตราภาษีร้อยละ 10 และภายหลังถูกปรับลดเหลือร้อยละ 7 เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีลักษณะเฉพาะ ที่สำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีจากมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของการผลิต จำหน่ายสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อให้รัฐสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน หลักการดังกล่าวช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบเศรษฐกิจและลดการทุจริตในกระบวนการจัดเก็บ

ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าและบริการบางประเภท เช่น สินค้าการเกษตร การศึกษา การบริการสุขภาพและการขนส่งสาธารณะ เป็นมาตรการสำคัญที่มุ่งลดภาระของประชาชนในกลุ่มรายได้น้อย ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เช่น การนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) มาใช้ และการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service Tax) ซึ่งครอบคลุมผู้ให้บริการดิจิทัลจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยให้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เน้นการค้าออนไลน์และบริการดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ เช่น ความยุ่งยากในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจขาดความรู้หรือทรัพยากรในการจัดทำเอกสารภาษี ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษี รวมถึงความเสี่ยงจากการหลีกเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ แม้รัฐบาลจะออกมาตรการปราบปรามการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มในต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะของขั้นบันได จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2557 และปรับเพิ่มอีกครั้งเป็นร้อยละ 10 ในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 8 และมีการปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 9 ในปี 2567 โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีมาตรการรองรับ เช่น การลดภาษีสินค้าจำเป็น การให้เงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้น้อย การปรับภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งสองประเทศสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับอัตราภาษี

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับรัฐ โดยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความโปร่งใสในระบบการคลัง อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลควรพิจารณาการปรับอัตราภาษีให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มอัตราภาษีในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจนเกินไป นอกจากนี้ การลดความซับซ้อนในขั้นตอนการจัดเก็บและการพัฒนาระบบดิจิทัลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษี ประกอบกับการคำนึงถึงความเป็นธรรมและความสมดุลระหว่างการจัดเก็บรายได้ของรัฐและความสามารถในการแบกรับภาระของประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการสร้างระบบภาษีที่ยั่งยืนและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาจช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพปก