พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยจัดเป็นสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วยโมเลกุลที่เชื่อมต่อกันเป็นสายยาว และมีธาตุหลัก ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน แม้พลาสติกจะมีประโยชน์มากมาย แต่กลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายเหมือนขยะอินทรีย์ และสามารถแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็ก เช่น ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ยากต่อการกำจัดและแพร่กระจายไปทั่วโลก ปัจจุบันพบพลาสติกในทุกพื้นที่บนโลกตั้งแต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา รวมถึงในร่างกายมนุษย์ เช่น ในลำไส้ ตับ และเลือด เป็นต้น
การผลิตพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งมลภาวะจากการเผาพลาสติกในที่โล่งซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ขยะพลาสติกคิดเป็นร้อยละ 85 ของขยะทางทะเลทั้งหมด โดยมีปริมาณมากถึง 11 ล้านตันต่อปี หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายใน 20 ปีข้างหน้า
การจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโลก ประเทศไทยพบว่าบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจำนวนมากหลุดออกจากระบบการจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกที่เป็นวัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้ง งานวิจัยชี้ว่า ในแต่ละปี มีขยะพลาสติกรั่วไหลสู่ท้องทะเลมากถึงหลายแสนตัน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีการปล่อยมลพิษพลาสติกสูงสุดในมหาสมุทร นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วการจัดการบรรจุภัณฑ์ในระบบขยะมูลฝอยทั่วไปยังมีข้อจำกัด ทั้งในแง่การคัดแยกวัสดุ การแปรรูป และต้นทุนเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่ยังสูง บรรจุภัณฑ์บางประเภท เช่น พลาสติกพิมพ์สีบนเนื้อวัสดุโดยตรงที่ทำให้คุณภาพของวัสดุที่ได้จากการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ต่ำลง หรือบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุหลายชนิดถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายแต่ยากต่อการแปรรูป ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ถูกกำจัดโดยวิธีฝังกลบหรือเผาทำลายมากกว่าการนำกลับมาใช้ใหม่
ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต ทั้งในด้านของการออกแบบ การใช้งาน และการจัดการหลังการใช้งาน หลักการที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ขยายออกไป” (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในหลายประเทศ ยังไม่ได้รับการบังคับใช้ในประเทศไทย การนำแนวคิด EPR มาประยุกต์ใช้จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการแปรรูป และส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาแม้จะมีการออกนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลายฉบับ เช่น แผนแม่บทด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะและของเสียอันตราย หรือ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก แต่การขับเคลื่อนยังคงเป็นไปในลักษณะเชิงสมัครใจ เช่น การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดของผู้ผลิตรายใหญ่ หรือโครงการนำร่องในบางพื้นที่ การขาดกลไกทางกฎหมายที่บังคับใช้ทำให้ผลลัพธ์ของนโยบาย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการใช้กฎหมายความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ขยายออกไป แสดงให้เห็นว่าอัตราการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยยังต่ำกว่ามาก
จากปัญหาและผลกระทบดังที่กล่าวมา กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. .… มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ครอบคลุมกิจกรรมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการของเสีย และมุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่แยกจากมูลฝอยทั่วไป โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างการผลิต การใช้ และการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว โดยอาศัยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) เพื่อให้ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญในการลดของเสียและจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. .… อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ หากกฎหมายฉบับนี้มีการพิจารณาและนำไปสู่การบังคับใช้แล้วจะสร้างระบบจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาวต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th