ถอนคำพูด

ถอนคำพูด

ถอนคำพูด หมายถึง ยกเลิกคำที่พูดไปแล้วให้เป็นเหมือนว่าไม่เคยพูดคำนั้นมาก่อน เมื่อสมาชิกได้อภิปรายหรือกล่าวถ้อยคำใดในสภาอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ จนทำให้ประธานในที่ประชุมสภาสั่งให้ถอนคำพูด หรือมีผู้ประท้วงว่าได้ถูกกล่าวพาดพิงที่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสมาชิกผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดเองโดยประธานในที่ประชุมไม่ต้องสั่งก็ได้ เพื่อไม่ให้มีการจดบันทึกถ้อยคำที่พูดนั้นในรายงานการประชุมสภา

ข้อบังคับการประชุมสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมการอภิปรายของสมาชิก โดยการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง โดยไม่จำเป็น และห้ามไม่ให้นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต 

ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 69)

ในกรณีที่มีผู้ประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนหรือตามคำวินิจฉัยของประธานได้ ถ้าผู้อภิปรายออกไปจากที่ประชุมโดยไม่ถอนคำพูดตามคำวินิจฉัยของประธาน ให้ประธานบันทึกการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุม (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 72)

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภา ประธานมีอำนาจเตือน ห้ามปราม ให้ถอนคำพูด ห้ามพูดในเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่ ให้กล่าวขออภัยในที่ประชุม หรือสั่งให้ออกไปจากที่ประชุมโดยมีหรือไม่มีกำหนดเวลาในครั้งนั้นก็ได้

ในกรณีที่ประธานสั่งให้ผู้ใดออกจากที่ประชุม หากผู้นั้นขัดขืน ประธานมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภานำตัวออกจากสถานที่ประชุมของสภาหรือออกไปให้พ้นบริเวณสภา ทั้งนี้ วิธีการหรือขั้นตอนการนำตัวผู้ที่ประธานสั่งให้ออกจากที่ประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของประธานย่อมได้รับความคุ้มครอง

คำสั่งของประธานตามข้อนี้ ผู้ใดจะโต้แย้งไม่ได้ (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 182)

ดังนั้น หากสมาชิกผู้อภิปรายคนใดกล่าวถ้อยคำที่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ซึ่งประธานอาจใช้อำนาจวินิจฉัยและสั่งให้ถอนคำพูดได้ หรือหากมีผู้ประท้วง ประธานต้องวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือไม่ ถ้ามีการฝ่าฝืน ประธานจะสั่งให้สมาชิกผู้อภิปรายถอนคำพูดทันที โดยจะส่งผลให้ในรายงานการประชุมจะไม่ปรากฏถ้อยคำที่สมาชิกได้ถอนคำพูดแล้ว 

ทั้งนี้ การถอนคำพูดนอกจากกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็มีกำหนดไว้ด้วยในลักษณะทำนองเดียวกัน 

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 
ข้อ 55 การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น หรือใช้ภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น และห้ามมิให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่าน หรือนำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุมวุฒิสภา เว้นแต่ประธานของที่ประชุมจะอนุญาต แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิสมาชิกที่จะเขียนคำอภิปรายของตนและอ่านคำอภิปรายนั้นในที่ประชุมวุฒิสภา 

ห้ามมิให้ผู้อภิปรายแสดงกิริยา หรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใดและห้ามมิให้กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใด โดยไม่จำเป็น 

ข้อ 57 สมาชิกผู้ใดเห็นว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับและประสงค์จะประท้วง ให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานที่ประชุมจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานของที่ประชุม วินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อยังคับตามที่ประท้วงนั้นหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานของที่ประชุมดังกล่าวให้ถือเป็นเด็ดขาด 

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น และเมื่อประธานของที่ประชุมวินิจฉัยว่าการอภิปรายนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ประธานของที่ประชุมอาจสั่งให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด และผู้อภิปรายต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

ข้อ 58 ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตนได้เอง หรือเมื่อมีผู้ประท้วง หรือตามคำสั่งของประธานของที่ประชุมตามข้อ 57 

ข้อ 184 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ ประธานของที่ประชุมมีอำนาจเตือน ห้ามปราม ห้ามพูด ให้ถอนคำพูด ให้กล่าวขอขมาในที่ประชุมวุฒิสภา หรือสั่งให้ออกไปจากที่ประชุมวุฒิสภาครั้งนั้นโดยมีหรือไม่มีกำหนดเวลาก็ได้ 

ในกรณีที่ประธานของที่ประชุมสั่งให้ผู้ใดออกจากที่ประชุมวุฒิสภา หากผู้นั้นขัดขืนประธานของที่ประชุมมีอำนาจสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาให้นำตัวออกจากสถานที่ประชุมวุฒิสภาหรือให้ออกไปให้พ้นบริเวณที่ประชุมวุฒิสภา 

คำสั่งของประธานของที่ประชุมตามข้อนี้ ผู้ใดจะโต้แย้งมิได้ 

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 
ข้อ 45 ในการอภิปรายต้องผู้ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามนำเอกสารใดมาอ่านในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่จำเป็น และห้ามนำวัตถุใดเข้ามาแสดงในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ เว้นแต่ประธานจะอนุญาตห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ข้อ 47 สมาชิกรัฐสภาผู้ใดต้องการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้ยืน และยกมือขึ้นพ้นศีรษะ ประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง แล้วให้ประธานวินิจฉัยว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ประท้วงหรือไม่ คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด 

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่ผู้ถูกอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น

ข้อ 48 เมื่อมีผู้ประท้วงตามข้อ 47 ผู้อภิปรายอาจถอนคำพูดของตน หรือตามคำวินิจฉัยของประธานได้ ถ้าผู้อภิปรายออกไปจากที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่ถอนคำพูดตามคำวินิจฉัยของประธาน ให้ประธานบันทึกพฤติกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยไว้ในรายงานการประชุม

ข้อ 148 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ประธานมีอำนาจเตือน ห้ามปราม ให้ถอนคำพูด ห้ามพูดในเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่ ให้กล่าวขอขมาในที่ประชุมรัฐสภา หรือสั่งให้ออกไปจากที่ประชุมรัฐสภาโดยมีหรือไม่มีกำหนดเวลาในครั้งนั้นก็ได้

ในกรณีที่ประธานสั่งให้ผู้ใดออกจากที่ประชุมรัฐสภา หากผู้นั้นขัดขืน ประธานมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภานำตัวออกจากสถานที่ประชุมหรือออกไปให้พ้นบริเวณรัฐสภา ทั้งนี้ วิธีการหรือขั้นตอนการนำตัวผู้ที่ประธานสั่งให้ออกจากที่ประชุม ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของประธานย่อมได้รับความคุ้มครอง 

คำสั่งของประธานตามข้อนี้ ผู้ใดจะโต้แย้งมิได้

ผู้จัดทำ :
อานันท์ เกียรติสารพิภพ, นิติกรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
จีรณัทย์ ชาญเชิงพานิช, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่เผยแพร่ :