การพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่
ผู้ต้องโทษให้ได้รับการปล่อยตัว หรือลดโทษ หรือเปลี่ยนโทษ แล้วแต่กรณี ซึ่งขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับพระราชอำนาจในการลงโทษ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพระราชทานอภัยโทษให้เป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปด้วย โดยถือเป็นโบราณราชประเพณีสำหรับพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสอันเป็นมงคลของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีการบัญญัติรับรองพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา นอกจากนั้น ยังได้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษอาญาไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย การพระราชทานอภัยโทษแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) การพระราชทานอภัยโทษตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ขอพระราชทานอภัยโทษที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะโทษอาญา และไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำพิพากษาว่าผู้ขอพระราชทานอภัยโทษกระทำความผิดแล้ว และ 2) การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษอาญา
การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษอาญา แบ่งออกได้เป็น
2 กรณี คือ
1) การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป คือ การที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษให้แก่
ผู้ต้องโทษอาญาทุกคนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะดำเนินการโดยทางราชการ มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการอภัยโทษ ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะมีขึ้นเมื่อมีเหตุอันสมควร เช่น พระราชประเพณีสำคัญ หรือวาระสำคัญต่อเหตุการณ์บ้านเมือง หรือเหตุผลในทางราชทัณฑ์
2) การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล
ให้ได้รับการยกโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษ โดยการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเรื่องราว
ขอพระราชทานอภัยโทษและถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย
ผู้ต้องโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สินที่คดีถึงที่สุดแล้ว หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา คู่สมรส ของผู้ต้องโทษ สามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ ทัณฑสถาน กระทรวงยุติธรรม สำนักราชเลขาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตได้ หลังจากรับเรื่องแล้วกรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำหรือทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาถวายความเห็นและนำความขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าทูลกระหม่อมทราบต่อไป
การพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษมีผลทางกฎหมาย คือ
การพระราชทานอภัยโทษ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ต้องโทษตั้งใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลับตัวเป็นคนดีของสังคม ส่งผลต่อการแก้ไขพฤตินิสัยไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นโทษแล้ว และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติ อีกทั้งเป็นวิธีการในการผ่อนคลายความเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายตาม
ลายลักษณ์อักษร เนื่องจากในการพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งทำให้ผู้ต้องโทษได้รับการลงโทษที่เหมาะสมกับการกระทำความผิดมากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสกลับสู่สังคมได้เร็วขึ้น
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th