อีอีซี เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

อีอีซี เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อีอีซี หรือเรียกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 รองรับการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นพื้นที่แรก มีองค์กรกำกับดูแลอย่างถาวร คือ คณะกรรมการนโยบายโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรัฐมนตรี 14 คน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

การพัฒนาของอีอีซี เน้นในพื้นที่ 3 จังหวัดของภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา โดยเน้นที่ 12 อุตสาหกรรม เป้าหมายคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมกลุ่มการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและศึกษา

ในช่วงเวลา 2 ปี (2561-2562) มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการที่คืบหน้าต่อเนื่องและดำเนินการปี 2563-2568 คือโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง เชื่อมภายในประเทศเป็นประตูไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ อีอีซีมีโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ให้ไทยเชื่อมโลกได้อย่างแข็งแกร่งและเต็มรูปแบบ ยกระดับบทบาทไทยในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชีย และให้ไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2575

 

ที่มา : 

  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก. (ม.ป.ป.). 2 ปี อีอีซี เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/561503)
  • https://www.eeco.or.th/th
ผู้จัดทำ :
แสงอรุณ อนุเคราะห์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เจตนนาฎ สุวรรณดี, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on