การจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

การจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ด้วยพื้นที่ตั้งอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน คับแคบไม่สามารถขยายต่อเติมเพื่อสนองตอบความต้องการในการใช้พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นได้ รัฐสภาจึงมีการดำเนินการศึกษาจัดหาพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่อย่างจริงจังขึ้น ระหว่างปี 2535-2551 โดยในแต่ละช่วงมีผลการพิจารณาดังนี้

  • ปี 2535-2538 (นายมารุต บุญนาค เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 13 แปลง และมีมติเลือกพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ปี 2539 (นายบุญเกื้อ ประเสริฐสุวรรณ เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 6 แปลง ยังไม่ได้มีการพิจารณาเลือกพื้นที่ มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อน
  • ปี 2540-2543 (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 5 แปลง แต่ไม่ได้เลือกพื้นที่ใด และได้จ้างสถาปัตยกรรมศึกษาพื้นที่ ผลการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกพื้นที่ราชพัสดุ (เกียกกาย) เขตดุสิต ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร เลือกพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตจตุจักร 
  • ปี 2543 (นายพิชัย รัตตกุล เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 2 แปลง คือ โรงเรียนเตรียมทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด และพื้นที่ราชพัสดุ (เกียกกาย) เขตดุสิต
  • ปี 2544-2547 (นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 5 แปลง และจ้างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลศึกษา และได้มีมติเลือกพื้นที่บริเวณเขาถ้ำพระ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
  • ปี 2548-2549 (นายโภคิน พลกุล เป็นประธานรัฐสภา) มีการพิจารณาพื้นที่ 5 แปลง มีมติเลือกพื้นที่ในโครงการสุวรรณภูมิซิตี้ บางพลีน้อย สมุทรปราการ 
  • ปี 2550-2551 (นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ครั้งแรก เลือกพื้นที่สนามกอล์ฟ กรมชลประทาน ปากเกร็ด นนทบุรี เมื่อชุมชนต่อต้านจึงได้พิจารณาพื้นที่กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก นนทบุรี 
  • ปี 2551 (นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นประธานรัฐสภา) ได้พิจารณาที่ดินเดิมสมัยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานรัฐสภา และที่ดินอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมเพิ่มอีก

กระทั่งในปี 2551 (นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา) มีนโยบายเร่งด่วนให้มีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติเลือกพื้นที่ราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามกรอบแนวคิด และมีความเหมาะสมเนื่องจากอยู่ในแนวแกนของเมืองที่มีความเชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์ การคมนาคมสะดวก สาธารณูปโภคพร้อม และสนับสนุนแนวคิดของสมาคมสถาปนิกสยามที่ว่าเป็นรัฐสภาเดี่ยว ควรตั้งใจกลางเมือง และตั้งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ผ่านกรุงเทพมหานคร

 

ที่มา : คณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภา. (2551). สรุปความเป็นมาของการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2551. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/474591)

ผู้จัดทำ :
วลัยรัตน์ ชายท้าว, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ศรุดา พรมสิทธิ์, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on