การปฏิวัติคอนเทนต์ในยุคแห่ง AI

การปฏิวัติคอนเทนต์ในยุคแห่ง AI

เขียนโดย โคชันซูโปรดิเวซอร์ สถานี KBS Entertainment ผู้ผลิตรายการบันเทิงในเกาหลี และผู้ขับเคลื่อนแนวทางการทำคอนเทนต์ในอนาคตที่แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -AI)ได้ขยายบทบาทจากการเป็นเครื่องมือในโรงงานหรือห้องทดลอง ไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกือบทุกประเภท ผู้เขียนใช้วิธีการบอกเล่าเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่าย โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้หลายคนหันมาสนใจ AI ที่จะทวีความจำเป็นยิ่งขึ้นในอนาคต

ส่วนต่าง ๆ ของหนังสือ หนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 

ส่วนที่ 1 ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาอยู่ในชีวิตของเราแล้ว กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของปัญญาประดิษฐ์แบบคร่าว ๆ

ส่วนที่ 2 ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ประกอบด้วย ข่าว กีฬา TV วงการบันเทิง/MCN (ดิจิทัลคอนเทนต์) ภาพยนตร์ ออดิโอ/ดนตรี รูปถ่าย/รูปภาพ วรรณกรรมและศิลปะ และเกม/การศึกษา

ส่วนที่ 3 ยุคคอนเทนต์ปัญญาประดิษฐ์ต้องเตรียมอะไรบ้าง เป็นเรื่องราวโดยสรุปของของปัญญาประดิษฐ์

ตัวอย่างคอนเทนต์กับปัญญาประดิษฐ์ หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างให้ศึกษาจำนวนมาก เช่น การแนะนำคอนเทนต์โดยปัญญาประดิษฐ์ "เน็ตฟลิกซ์ช่วยพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของระบบแนะนำโดยปัญญาประดิษฐ์" กล่าวถึงความสำเร็จของเน็ตฟลิกซ์ในระบบแนะนำ ซึ่งเกี่ยวกับบริการส่วนบุคคล ระบบนี้ทำงานได้ดีต่อเมื่อมีความเข้าใจในตัวผู้ใช้บริการอย่างถ่องแท้เท่านั้น จุดเริ่มต้นเริ่มจากการหาข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ระบบนี้จะมีประโยชน์เมื่อต้องรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนโดยผู้บริโภคยังไม่รู้สึกตัวว่าได้ให้ข้อมูลของตัวเองแก่บริษัทไปแล้ว เน็ตฟลิกซ์หาข้อมูลที่จำเป็นต่อการให้บริการตามความชอบของแต่ละบุคคลจากข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้และประวัติการใช้งาน พื้นฐานของระบบแนะนำจะใช้การคัดกรองแบบร่วมมือผสมกับการคัดกรองเนื้อหา การคัดกรองแบบร่วมมือเป็นเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วหาคนที่มีอุปนิสัยคล้ายกับผู้บริโภคคนนั้น จากนั้นแนะนำสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ระบบจะแนะนำหนังเรื่องอื่นที่ผู้บริโภคคนอื่นซึ่งดูหนังเรื่องเดียวกันนี้เคยให้คะแนนไว้สูงแก่ผู้บริโภคคนนั้น เทคโนโลยีนี้จะวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อหรือการค้นหาของผู้บริโภค เน็ตฟลิกซ์มองว่าระบบแนะนำเป็นจุดแข็งของบริษัท นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังจัดงานประกาศรางวัลเน็ตฟลิกซ์ไพรซ์ ซึ่งมีเงินรางวัลถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการสร้างอัลกอริทึมแนะนำที่เพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้บริโภคให้สูงกว่าบริษัทอื่นด้วย

 

ที่มา : โคชันซู. (2563). การปฏิวัติคอนเทนต์ในยุคแห่ง AI. [Q 335 ค951ก 2563]

ผู้จัดทำ :
นราภัทร เพชรมณี, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เพชรินทร์ ชัยศรี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on