การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน

การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน

จากแนวนโยบายในการบริหารจัดการอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องกำกับดูแลสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน และพบว่าการบริหารจัดการอาชีวศึกษาเอกชนภายใต้กำกับเดียวกันประสบปัญหาหลายด้านและรอการแก้ไข รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้ศึกษาและนำเสนอแนวคิดการยกระดับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน และพัฒนาระบบการอาชีวศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. การออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ให้สอดคล้องกับภารกิจของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ในระยะเร่งรัดเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติงาน ระยะเร่งด่วนควรออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ระยะกลางกฎหมายดังกล่าวเพิ่มหมวดที่ว่าด้วย "การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน" และระยะยาวอาจพิจารณาดำเนินการ "จัดทำร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษาเอกชน พ.ศ. ...."

2. ภาครัฐ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่งอย่างเพียงพอ และเปลี่ยนวิธีการจัดสรรจากเงินอุดหนุนรายหัวตามจำนวนผู้เรียน เป็นการจัดสรรตามความจำเป็นและความเหมาะสม

3. ควรให้สิทธิประโยชน์กับครูในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมครูในโครงการต่าง ๆ 

4. ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง อาทิ ยกเลิกหลักสูตรในสาขาที่ไม่มีผู้เรียน ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการของสถานประกอบการ 

5. การส่งนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงานสำหรับการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี และการส่งครูเข้าเรียนรู้ในสถานประกอบการ

 

ที่มา : คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา. (2564).รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริม สนับสนุนและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/573720)

ผู้จัดทำ :
บุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วิลาวรรณ์ บุตดา, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on