ปลอดบุหรี่....ปลอดมะเร็งปอด

ปลอดบุหรี่....ปลอดมะเร็งปอด

ภัยเงียบอันน่ากลัวอย่าง "บุหรี่" ที่หลายคนอาจมองข้ามอย่างไม่รู้ตัว องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าควันบุหรี่ ประกอบด้วย นิโคตินที่เป็นสารเสพติด สารเคมี 7,000 ชนิด สารพิษมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งมากถึง 70 ชนิด สูบนานเท่าไร ยิ่งบั่นทอนชีวิตให้สั้นลง แม้แต่คนรอบข้างก็ไม่ต่างจากคนสูบ หญิงมีครรภ์ ทารก และเด็ก ควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่หรือสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีหรือสารพิษอย่างนิโคติน (เป็นสารคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี) ทาร์ (เป็นสารคล้ายน้ำมันดิน) คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แอมโมเนีย สารกัมมันตรังสี รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ตกค้างในใบยาสูบ เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเซลล์ปกติเป็นเซลล์มะเร็งในระยะต่อมา สถิติโลกพบว่า มีคนเป็นมะเร็งปอดปีละ 1.8 ล้านคน ในไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 โดยพบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง

ความเสี่ยงและอาการโรคมะเร็งปอด ปัจจัยหลัก ๆ มาจากการสูบบุหรี่ รวมถึงได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า และเสี่ยงมากกว่า 30 เท่าหากสูบนาน 21-40 ปี เมื่อโรคกระจายแล้วจะมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ หลายชนิด มีไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย  มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก มักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้า และหากเข้าสู่ระยะอาการมากแล้ว จะมีไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครงและไหปลาร้าหรือสะบ้า มีอาการหอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอก กลืนอาหารลำบาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ แม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างดี แต่อัตราการรอดชีวิตมีเพียงร้อยละ 2 ถึง 5 เท่านั้น

ผลกระทบของการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอันตรายด้านสุขภาพอนามัย ที่ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่ก่อให้เกิดโรคอันตรายหลายชนิดด้วย ทำให้สูญเสียทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก WHO ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ ให้รัฐบาล ชุมชนและประชากรโลกมีความตระหนักและเข้าร่วมกิจกรรม กระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบายหรือกฎหมายเพื่อควบคุมยาสูบ ซึ่งปีนี้ WHO เน้นย้ำให้เห็นถึงพิษภัยของบุหรี่ และยิ่งอันตรายคูณสองหากติดร่วมกับโรคโควิด-19 โดยรณรงค์ว่า COMMIT TO QUIT หรือมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ สำหรับประเทศไทยรณรงค์ภายใต้คำขวัญว่า "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้" เพราะการเลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเจ็บป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตเมื่อติดโควิด-19 ได้

 

ที่มา :

  • อารัมพรภ์ เอี่ยมวุฒิ, พรรษา น้อยสกุล, รัชฎาพร จั่นเจริญ และโสภิตา สุวุฒโฑ. (2554). บุหรี่ภัยร้ายทำลายคุณ.
  • https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/410449
  • https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/533021
  • https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/410456
  • https://www.nci.go.th/th/Knowledge/downloads/0005.pdf
  • https://thestandard.co/onthisday310564/
ผู้จัดทำ :
แสงอรุณ อนุเคราะห์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เจตนนาฎ สุวรรณดี, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on