ดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังทางสังคม เสริมสร้างวินัยและความเข้มแข็งของชุมชนสังคม

ดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังทางสังคม เสริมสร้างวินัยและความเข้มแข็งของชุมชนสังคม

วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง ดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังทางสังคม เสริมสร้างวินัยและความเข้มแข็งของชุมชนสังคม (Digital Community Watch Dog) เป็นแผนปฏิรูปด้านสังคมที่จัดทำขึ้นภายใต้เจตนารมณ์ร่วมกันที่จะบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อการรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งข้อมูลข่าวสาร และการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

ที่มา

ด้วยพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการสื่อสารและสารสนเทศในการดำรงชีวิต ทำมาหากิน ธุรกิจ ความรู้ และเพื่อสื่อสารทางสังคม การใช้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดผลสะท้อนวินัยของคนในสังคมและการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของคนในสังคม เช่น การละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หรือพื้นที่สาธารณะ การไม่เคารพกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเหล่านี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวของคนในสังคมและเข้าไปมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านไปยังหน่วยงานภาครัฐ

วัตถุประสงค์

เพื่อลดปัญหาทางสังคมที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กระตุ้นให้ประชาชนมีจิตสาธารณะในการร่วมกันป้องกันช่วยเหลือและป้องปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำให้ประชาชนเคารพกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง บ้านเมืองมีระเบียบวินัย เป็นการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

มีวาระการปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่ 

1) การปฏิรูปให้มีโครงสร้างกลไกการบริหารจัดการดิจิทัล เพื่อการเฝ้าระวังทางสังคม ให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการกลไกในการเฝ้าระวังทางสังคมที่เป็นประชารัฐ โดยมีกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ โครงสร้างกลไกระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ

2) การปฏิรูประบบเทคโนโลยีดิจิทัล การแจ้งข้อมูลข่าวสารของประชาชนเพื่อการเฝ้าระวังสังคมและบังคับใช้กฎหมายโดยจะเป็นการปฏิรูปและจัดทำระบบการรับแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

3) ปฏิรูปกระบวนการที่เป็นการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังทางสังคมที่ต้องเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และติดตามผลได้โดยให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐ

 

ที่มา : คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. (2560). รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง ดิจิทัลเพื่อการเฝ้าระวังทางสังคม เสริมสร้างวินัยและความเข้มแข็งของชุมชนสังคม (Digital Community Watch Dog). (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/515501)

ผู้จัดทำ :
วลัยรัตน์ ชายท้าว, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ศรุดา พรมสิทธิ์, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on