พิษจากพืชกระท่อม

พิษจากพืชกระท่อม

พืชกระท่อม (Kratom) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. ในตำรายาไทย ใบกระท่อม มีสรรพคุณใช้ระงับอาการปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น ปัจจุบันพืชกระท่อมยังมีการใช้แบบดั้งเดิมในชุมชนภาคใต้ของประเทศไทย โดยการเคี้ยวใบกระท่อมสด เมื่อเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ ก็อาจส่งผลทำให้รู้สึกเมาได้ หรือนำไปแปรรูป เช่น ต้มน้ำดื่ม ตากแห้ง หรือบดเป็นผงเพื่อชงดื่ม เพื่อให้สามารถทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากในใบกระท่อมมีสารสำคัญหลัก คือ mitragynine ซึ่งออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับโอปิออยด์ ส่งผลให้พืชกระท่อมมีฤทธิ์แก้ปวด รวมถึงฤทธิ์อื่น ๆ ที่คล้ายโอปิออยด์ เช่น ฤทธิ์ที่ทำให้รู้สึกเคลิ้มสุข เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที หลังจากรับประทานใบกระท่อม

การใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พืชกระท่อมร่วมกับยาแผนปัจจุบัน จึงเกิดปัญหาการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับยาแผนปัจจุบัน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หรือสารอื่น เพื่อให้เกิดความมึนเมา คึกคะนอง สนุกสนาน ในกลุ่มเยาวชน ที่รู้จักกันในชื่อ "สี่คูณร้อย" จากปัญหาดังกล่าว จึงมีผู้ป่วยหลายรายเกิดภาวะพิษจากพืชกระท่อม (เช่น เกิดอาการใจสั่น สับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ความดันโลหิตสูง) รวมถึงภาวะพิษจากยาหรือสารอื่นที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งการดูแลรักษาที่สำคัญ คือ การรักษาประคับประคองและการรักษาตามอาการ รวมถึง การติดตามอาการอย่างเหมาะสม ไม่มียาต้านพิษจำเพาะ ปัจจุบันพืชกระท่อมถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564

 

ที่มา : รุ่งเรืองว. (2563). พิษวิทยาของพืชกระท่อม. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล, 30(2), 118-124.

ผู้จัดทำ :
วัลยา พุ่มต้นวงค์, บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ธัญญาภัทร์ โทจำปา, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
Created on