#ราคาของการมีลูก : เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน

#ราคาของการมีลูก : เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aging Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จากการคาดประมาณประชากรของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" (Aged Society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" (Super-Aged Society) มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงวัยจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคตหลายประการ เพราะรัฐบาลมีภาระจะต้องดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมนโยบายการเพิ่มประชากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประชากรในปัจจุบันยังประสบปัญหาอยู่พอสมควร จึงทำให้คู่สามีภรรยาที่กำลังคิดจะมีบุตร ต้องทบทวน และมีมุมมอง ทัศนคติที่ดีในการสร้างครอบครัวยุคใหม่ให้มีคุณภาพ ท่ามกลางสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง

หนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในโครงการ "การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร: การศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์" ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการ "การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรและสังคมไทย" นำเสนอฉากทัศน์และมุมมองของพ่อและแม่ที่มีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตรในยุคปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึก นอกจากเนื้อหาของหนังสือความยาว 200 หน้า ที่สะท้อนสภาพและมุมมองที่น่าสนใจของครอบครัวในยุคปัจจุบันแล้ว ยังนำผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการศึกษาที่ผสมผสานวิธีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มพ่อแม่ที่เริ่มสร้างครอบครัว และการใช้วิธีทำเหมืองข้อมูล (Data mining) โดยดึงข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากกระทู้ เว็บไซต์พันทิปกว่า 1,800 กระทู้ และเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์ใช้เทคนิควิธีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural language processing – NLP) มาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อค้นหาประเด็นที่สำคัญ รวมไปถึงเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้การประมวลผลเนื้อหาจำนวนมากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นงานวิจัยทางประชากรศาสตร์งานแรก ๆ ที่นำเทคนิควิธีการทำเหมืองข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ นอกเหนือจากการทำความเข้าใจมุมมอง ทัศนคติ และภาพลักษณ์ของคนในปัจจุบันที่มีต่อการสร้างครอบครัวแล้ว ยังชี้ให้เห็นแนวทางและข้อควรระวังในการนำเทคนิคการทำเหมืองข้อมูลและการประมวลผลภาษาธรรมชาติมาใช้ในการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบาย เป็นทางออกให้ครอบครัวสามารถแบ่งเบาภาระและอุปสรรคในการทำงานและเลี้ยงดูบุตรของตนได้ เพื่อสร้าง "ครอบครัวไทยรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง" 

หนังสือ "#ราคาของการมีลูก : เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา: มนสิการ กาญจนะจิตรา, ทรงพันธ์ เจิมประยงค์, กัญญาพัชร สุทธิเกษม และรีนา ต๊ะดี. (2562). #ราคาของการมีลูก : เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน. [HQ 674.55 ร399 2562]

ผู้จัดทำ :
จำเรียง ระวังสำโรง, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
ญานิกา เฟื่องฟุ้ง, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
Created on