สรุปผลการประชุมเสวนาสาธารณะ (Public Forum) เพื่อนำเสนอ (ร่าง) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง บทบาทพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีเพื่อการถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : จากปัจจุบันสู่อนาคต

การประชุมเสวนาสาธารณะ (Public Forum) เรื่อง บทบาทพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีเพื่อการถ่วงดุล ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : จากปัจจุบันสู่อนาคต เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากสถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ให้ดำเนินงานโครงการประสานงานสนับสนุนทุนวิจัยและผลักดันการใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยเชิงนโยบายตามความต้องการของรัฐสภาและหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินงานขับเคลื่อนให้ผลงานวิจัยของ วช. ได้นำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 นาฬิกา โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Zoom


การนำเสนอ (ร่าง) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง บทบาทพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีเพื่อการถ่วงดุล ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : จากปัจจุบันสู่อนาคต โดย รองศาสตราจารย์ พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น


1. ปัญหาและอุปสรรคจากการปฏิบัติหน้าที่ในงานสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการ

1) พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของการเข้ามาสั่งการ

2) เปิดโอกาสให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในกระบวนการสอบสวนในคดีสำคัญ

3) บ่อยครั้งที่พนักงานอัยการมีหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีไม่ใช่พนักงานอัยการที่เข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนตั้งแต่ต้น อาจนำมาซึ่งการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมหรือพิจารณาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจได้เช่นกัน

4) ความแตกต่างของจำนวนพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการ

5) พนักงานอัยการมีระยะเวลาในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนในเวลาอันสั้น

6) ข้อสงสัยของภาคประชาชนในประเด็นความโปร่งใสของกระบวนการงานสอบสวน

 

2. แนวทางเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการเข้ามามีบทบาทในการสอบสวน

1) นิยามคำว่า พนักงานสอบสวนให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการงานสอบสวนในทุก ๆ หน่วยงาน

2) กำหนดคดีที่พนักงานอัยการควรเข้ามาร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจบนพื้นฐานของลักษณะคดีมากกว่าอัตราโทษทางคดี

3) ให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการสอบสวน

4) จัดตั้งหรือพัฒนาเป็นรูปแบบคณะทำงานสอบสวนจะช่วยทำให้เกิดการถ่วงดุล

 

3. แนวทางการปฏิรูประบบงานสอบสวนให้เป็นการทำงานที่เข้าถึงประชาชน

1) การยกระดับความโปร่งใสและความยุติธรรมในงานสอบสวนนั้นควรต้องมีการปฏิรูปทั้งระบบในทุกหน่วยงาน

2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนควรให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในระบบงานสอบสวน

3) การเข้าร่วมกระบวกนารสอบสวนของพนักงานอัยการควรเข้าร่วมตั้งแต่ต้นในลักษณะคดีที่มีความสลับซับซ้อน 

4) การจัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการเพื่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการสอบสวนเพื่อช่วยยกระดับงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ

 

ร่างรายงานวิจัยฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานสอบสวนของหน่วยงานตำรวจและอัยการในอนาคต ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับการทำงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ สร้างการยอมรับให้แก่ประชาชนให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในระบบงานยุติธรรม ซึ่งผลการศึกษาวิจัยสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการติดตามตรวจสอบการทำงานของการสอบสวนคดี

Event Date
2022-03-17
Year
2022
Source of Knowledge
From a Training, Meeting or Seminar
Author
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ