ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดความหมายของคำว่า “อาสาสมัคร” หมายถึง บุคคลที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ โดยในปัจจุบันมีจำนวนอาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมครอบคลุมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านการป้องกันภัย ด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว อาสาสมัครในด้านต่าง ๆ ยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือการดำเนินงานทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ในส่วนของอาสาสมัครภาครัฐ ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ โดยอาสาสมัครจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น อาสาสมัครจึงถือเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานของรัฐในส่วนราชการต่าง ๆ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของอาสาสมัครของแต่ละส่วนราชการ อาจมีการออกกฎระเบียบว่าด้วยงานอาสาสมัครของตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับ ควบคุมการดำเนินงาน
สำหรับอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร ได้มีการออกระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ. 2563 เพื่อให้การดำเนินงานอาสาสมัครเกษตรและการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อให้มีตัวแทนในการทำหน้าที่ประสานงานด้านการเกษตร (2) เพื่อให้มีระบบการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของอาสาสมัครเกษตรให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอด แนะนำ ช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่น (3) เพื่อสร้างระบบเครือข่ายการประสานงาน การพัฒนาทักษะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรหรือสหกรณ์ และ (4) เพื่อสร้างระบบการบริหารงานของอาสาสมัครเกษตรภายใต้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นไป
ในแนวทางเดียวกันและมีเอกภาพ
ทั้งนี้ อาสาสมัครเกษตรในภาครัฐ แบ่งออกเป็น 17 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
กล่าวโดยภาพรวมแล้วอาสาสมัครเกษตรประเภทต่าง ๆ มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งให้ข้อมูลและแจ้งเตือนภัยธรรมชาติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงาน ช่วยเหลือ และให้ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาด้านการเกษตรและสหกรณ์ และการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชนหรือตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นขอความช่วยเหลือ โดยการปฏิบัติงานของอาสาสมัครเกษตรบางประเภท รวมถึงอาสาสมัครภาครัฐอื่น ๆ อาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น การได้รับเกียรติบัตร หรือได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ กิจกรรม การเข้ารับการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน เป็นต้น
ที่ผ่านมาการดำเนินงานในภาพรวมของอาสาสมัครภาครัฐในส่วนราชการต่าง ๆ พบว่ามีสภาพปัญหาเกี่ยวกับกลไกกลางในการประสานงานและจัดการเกี่ยวกับระบบอาสาสมัคร ปัญหาในด้านคุณสมบัติและองค์ความรู้ของอาสาสมัคร รวมถึงปัญหาความเลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ดังนั้น จากการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงได้มีการเสนอประเด็นการปฏิรูประบบงานอาสาสมัครในภาครัฐ ประกอบด้วย การพัฒนากลไกกลางของระบบงานอาสาสมัครเพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ การจัดระบบฐานข้อมูลกลางของอาสาสมัครทั่วประเทศ การสร้างระบบบูรณาการทำงานร่วมกันของอาสาสมัครในระดับพื้นที่ การพัฒนาองค์ความรู้ของอาสาสมัคร และการสร้างระบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุผลและเป็นธรรม โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เสนอรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นแนวทางในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนกลไกการดำเนินงานของอาสาสมัครในภาครัฐต่อไป
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th