คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council:ECOSOC) ก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ (United Nations: UN โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ธำรงไว้ ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การเคารพในหลักความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมชองประชากรโลกตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ คณะมนตรีๆ นี้ เป็น 1 ใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ ประกอบด้วย
1) สมัชชา (General Assembly)
2) คณะมนตรีความมั่นคง (SecurityCouncil)
3) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council: ECOSOC)
4) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council)
5) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)
6) สำนักเลขาธิการ (Secretariat)
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกทั้งหมด 54 ประเทศ ซึ่งได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีวาระคราวละ 3 ปี สมาชิกที่ครบวาระแล้ว
มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งในวาระต่อเนื่องได้ทันที โดยคณะมนตรีฯ ได้มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็นคณะกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการภูมิภาค และองค์กรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่เดิมคณะมนตรีฯ นี้มีภาระหน้าที่ คือ ให้การช่วยเหลือประเทศที่ต่อต้านสงครามในยุโรปและเอเชีย แต่ปัจจุบันปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น จึงหันมาทำหน้าที่ในการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สังคม มนุษยธรรม วัฒนธรรม การศึกษา และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้คำแนะนำเพื่อส่งเสริมการเครพและปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพขั้นมูลฐานของปวงชน ตลอดจนทำงานประสานกับองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเหล่านี้ อีกทั้งการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเรื่องการค้า การขนส่งการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจ ประชากร และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมาธิการที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกอีก 5 แห่ง รวมทั้งที่กรุงเทพมหานคร คือ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สำหรับประเด็นที่ถูกนำมาหารือกันในที่ประชุมของคณะมนตรี ๆ นั้น หากมีการออกเสียงลงมติสมาชิกแต่ละประเทศมีอำนาจออกเสียงเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น และจากนั้นก็จะส่งความคิดเห็นไปยังสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีฯยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติ อาทิ ร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการขององค์การชำนัญพิเศษต่าง ๆ ของสหประชาชาติ เช่น ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่
สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีวาระในการเลือกตั้งให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิกECOSOC ด้วย ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีฯ วาระปี 2020-2022 ในนามกลุ่มของประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ และบังกลาเทศโดยประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 186 คะแนน เป็นที่ 1 ของกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยว่างเว้น
จากการเป็นสมาชิก ECOSOC มาถึง 12 ปี โดยประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกมาแล้ว 6 ครั้ง คือ
1) ปี 2517-2519
2) ปี 2523-2525
3) ปี 2526-2528
4) ปี 2532-2534
5) ปี 2538-2540
6) ปี 2548-2550
และในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ภายหลังการเลือกตั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้หารือกับอดีตประธานสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) สมัยที่ 73
และสมัยที่ 74 ประธาน ECOSOC และรองเลขาธิการสหประชาชาติที่กำกับดูแลส่วนกิจการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ ซึ่งต่างแสดงความยินดีและชื่นชมบทบาทของประเทศไทยที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ที่ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 ตั้งแต่ปี 2016 รวมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในฐานะประธานอาเซียน จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ECOSOC ประเทศไทยก็มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสรรค์ด้านการพัฒนามาโดยตลอด อาทิ ในด้านสุขภาพโดยการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านสังคมโดยการริเริ่ม Bangkok Principles ซึ่งเป็นหลักป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพให้เป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง อันส่งผลให้ประเทศไทยมีมาตรฐานและความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ประจักษ์ในเวทีสากล
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) เป็น 1 ใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติมีภารกิจหลักในการเสนอและทบทวน นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: sDGs) ใน ค.ศ. 2030 ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่สามารถข้าไปมีส่วนร่วมและบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเสนอแนะนโยบายและแนวทางเพื่อผลักดันให้ ECOSOC เป็นเวทีระหว่างประเทศที่สามารถส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบการณ์ของประเทศไทยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางให้กับนานาประเทศอีกด้วย
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th