เฟคนิวส์ รู้ทันในยุคข้อมูลข่าวสาร

Script Writer
อาริยา สุขโต, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2020-10
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปัจจุบันเราสามารถรับข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางอินเทอร์เน็ตเพราะความสะดวกรวดเร็วในการรับและส่งข่าวสารต่อ ๆ กันผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับยุคนี้ โดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนจำนวนมาก อันเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ไม่ประสงค์ดีในการโน้มน้าวชักจูงหรือโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้างเนื้อหาทำลายฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยก ชิงชัง จนเกิดความเข้าใจผิดหรือให้ความรู้ที่บิดเบือน ตั้งแต่เรื่องความเข้าใจด้านสุขภาพไปจนถึงทัศนคติทางการเมือง หรือการสร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนต่อผู้เสพข่าวสาร ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมากจึงเกิดการแพร่ข่าวปลอมโดยผู้ส่งสาร หรือผู้อ่านไม่ได้ตรวจสอบข่าวสารนั้นแล้วทำการส่งต่อไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการกระจายข่าวสู่ผู้อื่นอย่างรวดเร็ว

เฟคนิวส์ คือ ข่าวปลอมที่แชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชันไลน์ โดยข้อความหรือข่าวเหล่านี้สามารถสร้างความเข้าใจผิดและความเสียหายแก่บุคคลที่ถูกพาดพิงและสังคมได้ การกระจายข่าวปลอมมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถกระจายข่าวไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ สามารถเข้าถึงผู้ที่อ่านได้มากกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่า การแพร่ข่าวปลอมอย่างรวดเร็วสู่คนจำนวนมากมีเป้าหมาย คือ การทำให้ผู้รับสารเข้าใจข้อมูลที่ผิดบิดเบือนซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะสิ่งที่ตามมาคือ ผู้รับสารไม่สามารถแยกแยะข้อมูลข่าวสารได้ว่าข่าวไหนเท็จจริงหรือข่าวไหนปลอม เพราะข่าวปลอมบางข้อความอ้างอิงถึงบุคคลหรือแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ จนบางครั้งเกิดขึ้นเพียงเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลบางอย่าง และบุคคลที่หลงเชื่อข่าวปลอมเหล่านั้นจะส่งต่อไปยังบุคคลอื่น ต่อ ๆ กัน จึงอาจส่งผลทำให้เกิดการเข้าใจผิดที่ขยายวงกว้าง ซึ่งข่าวปลอมหลายข่าวมักเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงในสังคมออนไลน์หรือข่าวที่กำลังเป็นกระแส โดยข่าวปลอมมักจะเกิดจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักซึ่งมักเป็นผู้ใช้หรือยูสเซอร์ (User) ที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อการเผยแพร่ข่าวปลอม ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้เสพข่าวควรจะมีข้อสังเกตว่าข่าวที่เผยแพร่นั้นเป็นข่าวจริง หรือ เฟคนิวส์ อย่างไร ทั้งนี้โทษของการผลิตหรือแชร์ข่าวปลอมเป็นสิ่งที่คนในยุคข้อมูลข่าวสารจะต้องเพิ่มความตระหนักและระมัดระวัง อีกทั้งควรมีการตรวจสอบเป็นอย่างดีเช่นกัน

ข้อสังเกตเพื่อใช้ประกอบการแยกแยะข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมเบื้องต้น คือ ต้องตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียวก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าวประกอบด้วย ซึ่งหากเป็นเว็บไซต์ข่าวที่นำเสนอข่าวเพียงไม่กี่หน้า ไม่มีการระบุที่อยู่สำหรับติดต่อมีความเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอมโดยเฉพาะ อาจทำการตรวจสอบด้วยการสอบถามบนเว็บบอร์ด หรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ หรือการตรวจสอบข่าวปลอมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย นอกจากนี้ รูปแบบของข่าวปลอมที่เป็นจุดสังเกต คือ ข่าวปลอมมักจะใส่ภาพจากข่าวเก่า เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ กรณีดังกล่าวผู้ใช้สามารถตรวจสอบโดยใช้กูเกิล รีเวอร์ส อิมเมจ เสิร์ช (Google Reverse Image Search) เพื่อค้นหาว่ารูปดังกล่าวปรากฏอยู่ในข่าวเก่าหรือไม่ หรืออีกวิธีคือการตรวจสอบโดยการนำชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหาในกูเกิล ซึ่งอาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรือดูวันที่เผยแพร่ข่าว ซึ่งอาจพบว่าเป็นข่าวจริงแต่เผยแพร่แล้วเมื่ออดีต

การเผยแพร่ข่าวปลอม ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน มีความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยความผิดและอัตราโทษนั้นมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 การกระทำความผิดดังกล่าว ผู้ที่ผลิตข่าวปลอม บิดเบือน และนำเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม คือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ที่จัดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155 หรือ 1599 ที่รับผิดชอบในการปราบปรามกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งช่วยเหลือและตรวจสอบเฟคนิวส์เชิงลึก ให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน ดังนั้น หากเห็นข้อมูลที่โพสต์หรือแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ให้พิจารณาอ่าน ตรวจสอบและตรวจทานให้ดีเสียก่อน เพราะการนำข้อมูลไปโพสต์ต่อโดยที่ไม่รู้ หรืออาจจะรู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จจะทำให้มีความผิดตามกฎหมาย

ภาพปก