สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33

Script Writer
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2022-06
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แรงงานเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตและสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนผ่านระบบประกันสังคมตามมาตราต่าง ๆ ให้กับแรงงาน แบ่งออกเป็น ภาคบังคับผู้ประกันตนมาตรา 33 ภาคสมัครใจ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนมาตรา 40 ในที่นี้กล่าวถึงเฉพาะสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ดังนี้

1. กรณีเจ็บป่วย

1.1 การเจ็บป่วยปกติ ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ในกรณีที่ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน 

1.2 กรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่สามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิได้เมื่อเข้ารับการบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลอื่น สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาล 

2. กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอดมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง 

2.1 ผู้ประกันตนหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ 

2.2 ผู้ประกันตนชาย ที่มีภริยาจดทะเบียนสมรสหรือหญิง ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้

2.3 ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ 

3. กรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่ทุพพลภาพ ได้สิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้

4. กรณีตาย ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตายได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ 

5. กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน โดยได้รับเงินสงเคราะห์บุตร คราวละไม่เกิน 3 คน

6. กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน

7. กรณีชราภาพ
แรงงานจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นผู้ทุพพลภาพหรือตาย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 สำนักงานประกันสังคม แจ้งสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีลาป่วย สามารถรับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง หากพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ ตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วยเป็นต้นไป รับเงินทดแทน ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และมีการปรับลดเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้าง ตลอดจนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หนึ่งในสาระสำคัญประการหนึ่ง คือ การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพกับเกณฑ์ใหม่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ขอเลือก มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว 2. ขอกู้ นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน 3. ขอคืน สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน 

ดังนั้น แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถใช้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาใช้ในการรักษาตนเองตามสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ และว่างงาน เป็นต้น เป็นการให้หลักประกันชีวิตแก่ประชาชนของตนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่บุคคลที่ทำงานมีรายได้และอยู่ในระบบแรงงาน และขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ 

ภาพปก