ด้วยแนวโน้มการมุ่งเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก ได้เป็นปัจจัยเร่งให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ พัฒนาและมีแผนจะออกใช้สกุลเงินดิจิทัลเอง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ที่มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่าและเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งแตกต่างจากสกุลเงินที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ริบเปิล (Ripple) ที่มีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อการเก็งกำไร และยังไม่มีกฎหมายรองรับยกเว้นในบางประเทศเท่านั้น จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการสัมผัส ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการชำระเงิน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ป้องกันการผูกขาดและลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินจากการพึ่งพาบริการทางการเงินภาคเอกชนมากเกินไปซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีการใช้เงินสดลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีนและสวีเดน
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์” โดยมีการทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ ส่วนการใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: retail CBDC) หรือที่เรียกว่า “เงินบาทดิจิทัล” ซึ่งมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลังและสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนจะเริ่มทดสอบและใช้งานด้วยการรับแลกหรือการชำระสินค้าหรือบริการในพื้นที่วงจำกัดช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 โดยเงินบาทดิจิทัลจะมีรูปแบบคล้ายเงินสดและจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย มีสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินเป็นตัวกลางในการรับแลกเปลี่ยนเงินกับประชาชน และมีการกำหนดเงื่อนไขหรือระยะเวลาในการแลกเปลี่ยนเงินฝากเป็นเงินบาทดิจิทัลอย่างจำกัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสภาพคล่องของสถาบันการเงิน รวมทั้งป้องกันธุรกรรมการฟอกเงินหรือการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม โดยวิธีการใช้เงินบาทดิจิทัลผู้ใช้จะต้องนำเงินฝากหรือเงินสดมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินดิจิทัลกับสถาบันการเงินและนำไปเก็บไว้ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในสมาร์ตโฟน แต่หากไม่มีสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต หรือบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน ผู้ใช้ก็สามารถเข้าถึงการใช้งานผ่านสมาร์ตการ์ดได้
การใช้เงินบาทสกุลดิจิทัลจึงเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยสูงแล้วยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน เช่น การพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น และลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศ การป้องกันการผูกขาดของธุรกิจการเงินภาคเอกชน ซึ่งอาจให้บริการที่ไม่เป็นธรรมหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายภาครัฐด้วยการใช้ฐานข้อมูลการใช้สกุลเงินดิจิทัลของประชาชนเป็นเครื่องมือในการกำหนดและดำเนินนโยบายที่ตรงจุด ลดการรั่วไหล และสามารถติดตามวัดประสิทธิผลได้
ทั้งนี้ แม้ว่าการออกใช้เงินบาทดิจิทัลจะเป็นการทดสอบในระยะเริ่มต้น คาดว่าจะต้องมีการศึกษาพัฒนาและทดลอง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะนำมาใช้ได้จริงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรจะต้องตื่นตัวในการศึกษาหาความรู้และติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวิธีการใช้งานหรือการให้ความยินยอมในการเปิดเผยและติดตามสถานะทางการเงินซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ
Copyright © 2022 National Assembly Library of Thailand
The Secretariat of the House of Representatives
1111 Samsen Road, Thanon Nakhon Chai Si, Dusit, Bangkok 10300, THAILAND
Tel: +66(0) 2242 5900 ex 5714, 5715, 5721-22 Fax: +66(0) 2242 5990
Email: library@parliament.go.th