ปศุสัตว์ OK : การรับรองเนื้อสัตว์ปลอดภัย เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค

Script Writer
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายหลังจากที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือที่เรียกว่า โรค ASF ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสร้ายแรงที่ติดต่อในสัตว์ตระกูลสุกร เกิดการระบาดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็นำมาซึ่งการตระหนักเกี่ยวกับการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ติดมากับเนื้อสัตว์ กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านสุขภาพสัตว์ สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมด้านการปศุสัตว์ ได้มีการติดตามสถานการณ์โรคในต่างประเทศ ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ชะลอการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากประเทศที่มีการระบาด รวมถึงตรวจการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ในทุกช่องทางเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ ในส่วนของความปลอดภัยทางด้านอาหาร กรมปศุสัตว์ได้มีกระบวนการในการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระบบฟาร์มจนถึงสถานที่จำหน่าย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคผ่าน “โครงการเนื้อสัตว์ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” หรือ “ปศุสัตว์ OK” 
    
“ปศุสัตว์ OK” เกิดจากนโยบายของกรมปศุสัตว์ในการบูรณาการงานด้านอาหารปลอดภัยตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และสถานที่จำหน่าย เริ่มดำเนินการในปี 2558 ให้การรับรองกับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ แสดงผ่านตราสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีเขียว มีข้อความ “ปศุสัตว์ OK ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค” และมีเครื่องหมายถูกสีเขียวอยู่ภายในตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวโอ (O) สีเหลืองทอง ผู้ประกอบการหรือสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ซึ่งหมายความรวมถึงร้านจำหน่ายในตลาดสดและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต้องผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา 4 ข้อ ได้แก่

  1. 1) เนื้อสัตว์ผลิตจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) สำหรับประเทศไทยการกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์นั้น ดำเนินการโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  2. 2) ผ่านการฆ่าและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและมีสุขลักษณะที่ดี ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ประกอบกับกฎกระทรวงการขออนุญาตและอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2564
  3. 3) วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ซึ่งหมายความรวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์
  4. 4) สินค้าปศุสัตว์นั้นต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดให้มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังโรงฆ่าสัตว์หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ ย้อนหลังอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการตรวจ 

การตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจประเมินซึ่งประกอบด้วยปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ และนายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ด้วยวิธีการตรวจสถานที่ การสัมภาษณ์ การตรวจสอบเอกสาร และเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหายาปฏิชีวนะตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ ฮอร์โมน สารเร่งเนื้อแดง หรือสารกลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ (B-Agonists) ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้สัตว์สะสมไขมันน้อยลง กรณีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน คณะกรรมการตรวจประเมินจะเข้าเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการส่งตัวอย่างใหม่ไม่เกิน 30 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจรับรองจะได้รับใบรับรองซึ่งมีอายุ 1 ปี และจะต้องแสดงตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ณ จุดจำหน่ายตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด ในสถานที่เปิดเผยและผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน ในส่วนของการตรวจติดตาม คณะกรรมการตรวจประเมินจะดำเนินการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ “ปศุสัตว์ OK” อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ภายหลังจากได้รับการรับรองหรือได้รับการต่ออายุใบรับรอง กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ คณะกรรมการตรวจประเมินจะแจ้งให้ผู้ประกอบการแก้ไขข้อบกพร่องภายใน 30 วัน หากไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้ภายในกำหนดระยะเวลาการตรวจติดตาม คณะกรรมการตรวจประเมินจะเสนอคณะกรรมการรับรองเพื่อยกเลิกการรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ “ปศุสัตว์ OK”
    
ปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ “ปศุสัตว์ OK” แล้ว ประมาณกว่า 8,400 แห่งทั่วประเทศ สินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในขอบข่ายการรับรองมี 7 ชนิด ประกอบด้วย เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด โครงการ “ปศุสัตว์ OK” จึงนับเป็นโครงการที่มุ่งสร้างมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์จนถึงสถานที่จำหน่าย ในเบื้องต้นประชาชนควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ สะอาด ถูกสุขอนามัย และสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นในการได้รับเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ซึ่งนอกจากประโยชน์แก่ผู้บริโภคแล้ว โครงการ “ปศุสัตว์ OK” ยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ให้มีการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตั้งแต่ต้นทางจนถึงสถานที่จำหน่าย อันจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้บริโภคและเกษตรกรต่อไป
 

ภาพปก