ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

Script Writer
สุรัสวดี จันทร์บุญนะ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-08
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มีการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติเกินศักยภาพโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพรวมทั้งสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเหตุให้จำนวนประชากรพืชและสัตว์ลดลงหรือสูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย แบ่งได้ดังนี้ 1) พรรณไม้ จำนวนทั้งสิ้น 12,050 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามใน พ.ศ. 2563 จำนวน 999 ชนิด และใน พ.ศ. 2565 พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย 3 ชนิด คือ ขมิ้นรางจืดว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์ และปอยาบเลื้อย 2) สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวนทั้งสิ้น 5,005 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ใน พ.ศ. 2560 จำนวน 676 ชนิด และใน พ.ศ. 2564-2565 พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกในประเทศไทย 2 ชนิด คือ กะท่างน้ำอุ้มผางซึ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และตุ๊กแกประดับดาว ส่วนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก จำนวน 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ และ 3) จุลินทรีย์ชนิดใหม่ของโลก ใน พ.ศ. 2565 พบจำนวน 2 ชนิด คือ Savitreella phatthalungensis ค้นพบในจังหวัดพัทลุง และ Goffeauzyma siamensis ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ยังพบสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น การค้นพบมดชุติมา แตนเบียนวียะวัฒนะ แตนเบียนสะแกราช และโคพีพอด ในจังหวัดนครราชสีมา และปูมดแดง อาจารย์ซุกรี ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงหรือเทือกเขาสูงทางภาคใต้
    
จากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ผู้แทนในที่ประชุมระดับสูงได้แสดงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลายปีที่ผ่านมา และในส่วนของประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยจะดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพมีหน้าที่ปฏิบัติงานภายใต้อนุสัญญาและความร่วมมือในระดับภูมิภาค สนับสนุนและพัฒนาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สื่อสารและสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแก่ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green-Economy) หรือ BCG Model นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังมีการกำหนดพื้นที่นำร่องที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้เป็นต้นแบบใน 3 ระดับ ดังนี้

  1. 1. ระดับโลก พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่มีหลากหลายทางชีวภาพและมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ให้คงสภาพป่า ชนิดพันธุ์พืช และชนิดพันธุ์สัตว์ มิให้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม โดยสภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ วัวแดง ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ คือ เสือโคร่ง และชนิดพันธุ์มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ คือ หมาไน
  2. 2. ระดับประเทศ จำนวน 2 พื้นที่ คือ 1) พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ที่มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าหลายชนิด มีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ และมีสัตว์ป่าอาศัยอย่างชุกชุม ชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ เป็ดก่า ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ คือ เนื้อทราย และชนิดพันธุ์ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ คือ นกโกโรโกโส และ 2) พื้นที่ทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ที่มีการรับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มทำให้ความเค็มของทะเลสาบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย สภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคาม คือ โลมาอิรวดี
  3. 3. ระดับท้องถิ่น พื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (สถานตากอากาศบางปู) จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพด้านพันธุ์ไม้และชนิดพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศหาดโคลน รวมทั้งเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกประกอบด้วย นกอพยพ คือ นกนางนวลแกลบเคราขาวและนกกระสาแดง และนกประจำถิ่น คือ นกยางโทนใหญ่และนกกระเต็นหัวดำ

จากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด BCG Model ที่มุ่งนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาครัฐควรต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ความตระหนัก และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเหมาะสม ควรขยายเครือข่ายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งควรจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นปัจจุบัน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ระบบนิเวศแก่ประชาชนทั่วไปการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรกำลังคนผู้ปฏิบัติงานด้านป่าไม้ให้พอเพียงกับภาระงานในแต่พื้นที่ อันเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ภาพปก